[pullquote align=”full” cite=”” link=”” color=”” class=”” size=”14″]“โลกไม่ได้จ่ายผลตอบแทนในสิ่งที่เรารู้ แต่จ่ายให้กับประโยชน์ที่เราทำให้กับผู้คนในสังคม”[/pullquote]
ไม่ใช่เรื่องผิดหากจะบอกว่าการศึกษาเป็นใบเบิกทางสู่ความสำเร็จ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความรู้ทุกอย่างที่ร่ำเรียนมา ไม่ใช่ทั้งหมด ที่เรานำมาใช้หารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว
เราทุกคนต่างต้องเรียนวิชาหลักส่วนใหญ่คล้ายๆ กัน อาทิ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ฯลฯ แต่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง เราก็ต้องเลือกเรียนเจาะลึก ในทางใดทางหนึ่งเป็นพิเศษอยู่ดี เพื่อให้เรามีความรู้ เฉพาะทางที่แข็งแกร่ง อันสามารถนำไปใช้เป็นความรู้หลักในการหารายได้ ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระบวนการของการใช้ความรู้เฉพาะทางเพื่อทำงานแล้ว ความรู้อื่นๆ ที่เคยร่ำเรียนมา ก็จะค่อยๆ เลือนรางหายไปในที่สุด
ใบปริญญาที่พาเราเข้าไปสู่ชีวิตพนักงานประจำ แสดงให้เห็นได้ส่วนหนึ่งว่า แท้จริงแล้วโลกไม่ได้จ่ายเงินให้กับทุกสิ่งที่เรารู้ แต่จ่ายให้เนื่องจากเราสามารถนำความรู้ หรือ ประสบการณ์ ที่มีอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเรามาสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนได้ต่างหาก เพราะทุกวันนี้ที่เรานั่งทำงานกันอยู่ เราก็ไม่ได้ใช้ทุกองค์ความรู้ที่ร่ำเรียนมาครบถ้วนเลยแม้แต่น้อย
ครั้งหนึ่ง เฮนรี่ ฟอร์ด สุดยอด CEO ผู้ให้กำเนิดต้นแบบยนตรกรรมล้ำสมัยแก่โลก ได้ตอบข้อกล่าวหาที่เขาถูกมองว่าเป็นพวกไร้การศึกษา เนื่องจากเรียนจบเพียงชั้นเทียบเท่า ประถม 6 ว่า “ทำไมผมถึงต้องตอบคำถามความรู้ทั่วไปมากมายที่ไม่จำเป็นต้องรู้ด้วย ในเมื่อผมสามารถถามมันจากลูกน้องที่มีความรู้ซึ่งอยู่รอบตัวผมได้”
คำตอบของฟอร์ดแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความรู้แบบเจาะลึกเฉพาะทางในเรื่องเครื่องยนต์ของเขานั้น เพียงพอแล้วที่จะสร้างประโยชน์ให้กับผู้คน เพียงพอแล้วที่จะทำให้เขาเป็นที่ไว้ใจสำหรับลูกน้องที่มีความสามารถด้านอื่น ซึ่งรวมตัวกันจนเกิดเป็นทีมงานที่มีองค์ความรู้รอบด้านเพียงพอ สำหรับการขับเคลื่อนพาทั้งทีมให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ตามที่ตั้งเป้าเอาไว้
ในยุคสมัยที่งานสัมมนาผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ผู้คนที่ยืนยันว่าตัวเองประสบความสำเร็จแล้วจากทั่วทุกสารทิศ ต่างก็ออกมาส่งต่อความรู้ ส่งมอบความคิด สู่ผู้คนมากมายในสังคม แต่คำถามที่เราผู้ซึ่งปรารถนาการเรียนรู้เพื่อประสบความสำเร็จทุกคนจะต้องถามกับตัวเองก็คือ…
- เราจะเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นไปเพื่ออะไร?
- เราจะนำเอาความรู้เหล่านั้น ไปทำธุรกิจประเภทไหน?
- เราจะนำความรู้เหล่านั้น ไปต่อยอดและประยุกต์ใช้
- พัฒนาความรู้ที่เรามีอยู่อย่างไร?
เพื่อให้สามารถสร้างมันออกมาเป็นองค์ความรู้ใหม่ ที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้
ความรู้ที่เรามีจะไม่ทำเงินหรือสร้างรายได้อะไรให้เราได้เลย ถ้าหากเราไม่สามารถจัดการนำเอาความรู้นั้น ไปสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้
ลองคิดดูเล่นๆ ก็ได้ว่า ถ้าเราเรียนจบ ดร. ได้ปริญญาเอกมาสัก 10 ใบ จากหลากหลายสาขาวิชาที่ครอบคลุมทุกความจำเป็นต่อการทำธุรกิจ แต่เมื่อไปสมัครงานแล้ว เราไม่สามารถตอบคำถามสัมภาษณ์ได้ว่า
[pullquote align=”full” cite=”” link=”” color=”” class=”” size=”16″]“เราจะนำความรู้ที่มี มาแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาบริษัทเขาได้อย่างไร?”[/pullquote]
ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่เราจะไม่ได้รับพิจารณาให้เข้าทำงานที่นั่น ถ้าหลอดไฟของเอดิสัน ไม่ได้ช่วยทำให้ผู้คนมีแสงสว่างใช้ในตอนกลางคืน ความรู้และทักษะการประดิษฐ์ของเขาก็คงไร้ราคาความหมาย
ถ้าวัคซีนของหลุยส์ ปาสเตอร์ ไม่สามารถรักษาโรคพิษสุนัขบ้าที่คร่าชีวิตผู้คนได้ โลกก็คงไม่เห็นคุณค่าความรู้ที่เขามีว่ามันดีอย่างไร และเขาก็คงไม่ใช่หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่โลกจดจำ
ความรู้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างรายได้ก็จริง แต่เราจะสร้างเงินได้ก็ต่อเมื่อ สามารถนำเอาความรู้นั้นไปสร้างสรรค์ เป็นผลิตภัณฑ์ แก้ปัญหา หรือ ทำประโยชน์ให้กับผู้คนได้เท่านั้น
ตราบเท่าที่เรายังไม่สามารถจัดการความรู้ ที่มีอยู่ในตัวเราเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โอกาสของการสร้างรายได้แบบเป็นกอบเป็นกำ ก็คงจะไม่โครจรเข้ามาใกล้ให้เราไขว่คว้าได้ง่ายๆ
สุดท้ายนี้ อาจไม่ได้สำคัญสักเท่าไรว่าเรามีความรู้เรื่องอะไร ขอเพียงแค่เรารู้ลึก รู้จริง และรู้ดีในสิ่งที่เรารู้ แค่นั้นก็สามารถสร้างรายได้จากความรู้ที่มีอยู่ได้แล้ว ด้วยการมองหากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความรู้นั้นๆ ของเรา
จากนั้นเราก็แสดงให้เขาเห็นว่า ความรู้ที่เรามี จะช่วยแก้ปัญหาหรือเป็นประโยชน์กับเขาได้อย่างไร ซึ่งจะว่าไป รูปแบบการสร้างรายได้แบบนี้ ก็เหมือนกันกับ ‘โรงเรียนกวดวิชา’ เพียงแต่มันไม่ใช่การกวดวิชาขั้นพื้นฐานธรรมดาๆ ทั่วไป
หากแต่เป็นการกวดวิชาความรู้เฉพาะทางอะไรก็ได้ ที่มีคนต้องการอยากรู้ อยากศึกษา หรือมองเห็นว่าองค์ความรู้ที่เรามีอยู่นั้นเป็นประโยชน์ สามารถแก้ไขปัญหาให้กับผู้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ในสังคม