กว่าที่เราจะได้ไอเดียเจ๋ง ๆ สักอย่างขึ้นมา สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ “การระดมไอเดีย” ให้มากมายหลายหลากที่สุดเสียก่อน… คำถามคือ แล้วจะทำอย่างไรล่ะ จึงจะมีไอเดียผุดขึ้น จนสามารถนำมาเชื่อมต่อกัน และทำให้เกิดเป็นรูปเป็นร่าง!?
ท่านเซอร์ เคน โรบินสัน นักคิด-นักการศึกษาระดับโลก (ผู้เขียนหนังสือขายดี The Element: How Finding Your Passion Changes Everything และ Finding Your Element: How to Discover Your Talents and Passions and Transform Your Life) กล่าวว่า
“ความคิดสร้างสรรค์ คือขั้นตอนการนำจินตนาการมาทำให้เกิดขึ้นจริง”
ท่านเซอร์เคน ยังอธิบายว่า
“ความคิดสร้างสรรค์มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาทั้งระดับโลกและระดับท้องถิ่น ทุกคนต้องการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของปัญหาให้ดีขึ้น แต่คุณต้องรู้เสียก่อนว่า ปัญหาเองก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ปัญหาธรรมดา ปัญหาที่ซับซ้อน ไปจนถึง ปัญหาอันเลวร้าย”
และปัญหาต่าง ๆ จะยิ่งกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเราไม่รู้ทั้งต้นตอของปัญหาและหนทางแก้ไข… บ่อยครั้งเรามองไม่เห็นปัญหาตั้งแต่แรก เพราะมันค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ จนสุดท้ายก็สายเกินไปที่จะแก้ไข…
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวว่า
“ปัญหาสำคัญจะไม่สามารถแก้ด้วยการใช้ความคิดระดับเดียวกับตอนที่เราสร้างปัญหานั้นขึ้นมา”
ซึ่งก่อนหน้านั้น เพลโต นักปรัชญาชาวกรีกในยุคโบราณ ก็เคยตั้งคำถามไว้ว่า
“ทำอย่างไรไอเดียความรู้ใหม่ ๆ จึงจะถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาจากความรู้เดิม”

niekverlaan / Pixabay
เชื่อเหลือเกินว่า ในยุคต่อจากนี้ไป เราคงต้องใช้ไอเดียใหม่ ๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นไอเดียที่แตกต่างและไอเดียที่สร้างสรรค์ เพราะปัญหาอันเลวร้ายไม่สามารถแก้ได้ด้วยไอเดียความคิดใดความคิดหนึ่ง หรือวิธีแก้ไขเพียงวิธีเดียว
ในปัจจุบัน ความซับซ้อนของปัญหามีมากขึ้น แต่มันจะง่ายขึ้น ถ้าคุณรู้ว่าจะได้ความคิดใหม่ ๆ มาจากไหน? และอย่างไร?
คนส่วนใหญ่มักเริ่มคิดและทำอะไรสักอย่าง ก็ต่อเมื่อเกิดปัญหาสักอย่างขึ้นมา… ถึงตอนนั้น เราจะเริ่มค้นหา คิดเพื่อหาทางแก้ไข และเมื่อพบแล้วก็นำไปใช้ จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นรูปธรรม กลายเป็นงานบริการ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ
การจะเกิดไอเดียใหม่ ๆ ได้นั้น คุณต้องทราบเสียก่อนว่า ตัวคุณเองและทีมงานสามารถใช้ความคิดได้ดีในสถานการณ์แบบไหน?
จากการสำรวจของนักวิจัยพฤติกรรมมนุษย์ พบว่า “รูปแบบของการคิด” เกิดขึ้นได้มากมาย โดยจะขึ้นกับสถานที่ เวลา และวิธีการ ดังนี้…
กลุ่มที่ชอบใช้ความคิด “ในสถานที่”
มีคนจำนวนมาก เกิดไอเดียขึ้นระหว่างอาบน้ำ หรือเข้าห้องน้ำ นักวิจัยเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “นักปรัชญาในห้องน้ำ”
กลุ่มที่ชอบใช้ความคิด “นอกสถานที่”
กลุ่มนี้จะชอบออกไปในที่สาธารณะ นั่งจิบกาแฟ เฝ้ามองผู้คน หรือเหตุการณ์รอบตัว พวกเขาชอบให้มีเสียงอยู่รอบ ๆ เพื่อกระตุ้นความคิด…
บางคนชอบนั่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ริมทะเล ในสวน หรือริมสระน้ำ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นทางความคิด บางคนเกิดไอเดียขึ้นระหว่างการเคลื่อนไหว หรือเดินทางในรถ รถไฟ หรือเครื่องบิน
กลุ่มที่ชอบใช้ความคิด “ในบางช่วงเวลา”
กลุ่มนี้จะเกิดไอเดียดี ๆ ได้โดยไม่ขึ้นกับสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นในร่ม หรือกลางแจ้ง แต่มักขึ้นกับ “เวลา” สำหรับคนกลุ่มนี้ ความคิดมักแวบขึ้นมาตอนก่อนนอน หรือเพิ่งตื่น บางคนต้องรอสักครู่ก่อนลุกจากเตียง เพื่อให้ความคิดนึกถึงความฝัน นึกถึงวันที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือปัญหาที่กำลังจะต้องแก้ไข…
หลากวิธีการที่แตกต่าง

Unsplash / Pixabay
เมื่อคุณทราบแล้วว่า “สถานที่และเวลาที่ดีที่สุด” สำหรับการเกิดความคิดดี ๆ คือที่ไหน? และเวลาใด? คุณจำเป็นต้องทราบเรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่มีผลต่อการเกิดความคิดสร้างสรรค์ นั่นคือ “วิธีการ”
นักคิดที่ใช้ปัญหาเป็นตัวตั้ง
คนกลุ่มนี้ คิดเพื่อที่จะหาทาง “แก้ไขปัญหา” พวกเขามักจะพูดว่า
“ผมเป็นนักแก้ปัญหา ความคิดใหม่ ๆ ส่วนใหญ่มาจากการเผชิญหน้ากับปัญหา หรือสถานการณ์ใด ๆ ก็ตามที่คิดว่าสามารถพัฒนาได้ หรือจากการได้ยิน หรืออ่านอะไรที่ผมไม่เห็นด้วย”
นักคิดที่ใช้หลายรูปแบบผสมกัน
คนกลุ่มนี้จะใช้ไอเดียเก่าและใหม่มารวมกัน หรืออาจนำทางออกที่มีอยู่หลาย ๆ ทาง มาเชื่อมต่อกันเป็นวิธีการใหม่…
ไอน์สไตน์เองก็เป็นนักคิดสไตล์นี้ เพราะเขาอธิบายวิธีการคิดไอเดียของเขาว่า
“ความคิดสร้างสรรค์เป็นเหมือนการผสมผสานเกมหลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกัน”
คุณสามารถนำทุกอย่างมารวมกัน เพื่อให้ได้ทางแก้ไขปัญหาใหม่ขึ้นมา เช่น ไอเดียดั้งเดิม ผลิตภัณฑ์ และการบริการที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งคำพูดต่าง ๆ
นักคิดที่ใช้วิธีโยนความคิด และปรับแต่งไอเดีย
คนกลุ่มนี้ใช้วิธีการกลั่นไอเดียความคิดสร้างสรรค์ จากสิ่งที่พวกเขาอ่านหรือได้ยิน แล้วเกิดความสนใจ พอสนใจแล้ว พวกเขาก็จะคิด นำไปเชื่อมโยงกับไอเดียอื่น ๆ กลั่นกรองออกมาเป็นหนทางแก้ไขปัญหา หรือไอเดียใหม่ ๆ
วิธีจุดประกายความคิด
1. การระดมสมอง
เป็นวิธีดั้งเดิมในการช่วยกันคิดเป็นกลุ่ม โดยตั้งเงื่อนไขว่า เราจะไม่วัดคุณภาพของไอเดียทันที เพื่อหลีกเลี่ยงการคัดไอเดียทิ้ง เร็วเกินไป
ใครนึกอะไรได้ก็เอามากองไว้บนโต๊ะ แล้วค่อยมาคิดว่าอันไหนน่าจะดี อันไหนไม่ค่อยดี บางอันเอาใส่แฟ้มไว้ก่อนเพื่อเอามาใช้ทีหลัง สิ่งที่ต้องการคือ
“ให้มีจำนวนมากเข้าไว้”
นี่เป็นขั้นตอนแรกที่ทำให้เกิดตัวเลือกมากพอ และไม่ให้มีการคัดกรองเร็วเกินไป
สุดท้ายค่อยมาดูกันว่า เหลือไอเดียไหนบ้างที่มีความหมายสามารถแปรผลได้ และตรงประเด็น
2.การคิดแนวข้าง
วิธีการนี้คิดค้นโดย เอ็ดเวิร์ด เด โบโน ซึ่งเป็นวิธีที่ดีในการไม่สกัดไอเดียออกไปเร็วนัก ขณะเดียวกันก็ยังช่วยให้การระดมสมองมีทิศทางมากขึ้น โดยจะใช้สีเป็นตัวกำหนดทิศทาง โดยอยู่ในรูปของ “ทฤษฎีหมวก 6 ใบ”
[ “สีฟ้า” คือภาพสรุปอันนำมาสู่ทิศทางการคิดทั้งหมด และรูปแบบในตอนสุดท้าย ว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องการ
“สีขาว” คือข้อมูลข่าวสารที่มี อะไรคือข้อเท็จจริง
“สีแดง” คืออารมณ์ความรู้สึก สัญชาตญาณ เป็นอารมณ์ล้วน ๆ โดยไม่มีการตัดสิน
“สีดำ” คือตรรกะ เหตุผลที่ควรระวัง และการป้องกัน
“สีเหลือง” คือการมองในแง่ดี ความหวังที่จะได้รับประโยชน์ และความสามัคคี
“สีเขียว” คือการคิดอย่างสร้างสรรค์ การกระตุ้น และการตรวจสอบ ว่าความคิดเดินทางอย่างไร ]
ในการประชุมและการอภิปรายเป็นกลุ่ม “การคิดแนวข้าง” จะบังคับให้ทุกคนคิดไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นระบบ ไม่ใช่ว่าพอมีคนเสนอไอเดียอะไรขึ้นมา อีกคนก็รีบหักล้างทันที ว่ามันไม่ดีอย่างไร…
“การคิดแนวข้าง” จึงถูกใช้อย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางความคิด เช่น การประชุมอาจเริ่มต้นด้วยการให้ทุกคนสวมหมวกสีฟ้า เพื่อปรึกษากันว่า การประชุมนี้จะมีรูปแบบ เป้าหมาย และวัตถุประสงค์อย่างไร
จากนั้นเปลี่ยนไปใส่หมวกสีแดง เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและปฏิกิริยาตอบสนองต่อปัญหา ในขั้นตอนนี้อาจใช้การพิจารณาด้วยว่า ใครเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาและการแก้ไข ต่อไปย้ายไปใส่หมวกสีเขียว เพื่อผลิตไอเดียและหนทางการแก้ไขที่เป็นไปได้
สุดท้ายการถกเถียงอาจสลับกันไปมาระหว่างหมวกสีขาว ในการพูดถึงข้อมูล และหมวกสีดำ ในการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นไปได้ของการแก้ปัญหา
เวลาที่ได้ไอเดียมาแล้ว ต้องนำมารวบรวม จัดระบบ พิจารณาดูองค์ประกอบให้ครบถ้วน และจัดลำดับความสำคัญ ความคิดเห็นของผู้อื่น บางครั้งก็ช่วยทำให้ไอเดียสามารถเกิดขึ้นได้จริง “การคิดแนวข้าง” จะทำให้นักคิดได้ทบทวนว่า มีใครบ้างที่จะได้รับผลกระทบจากไอเดียที่นำเสนอ
สิ่งที่สำคัญ ในฐานะนักคิด คุณควรต้องจินตนาการด้วยว่า ไอเดียเหล่านั้นมีผลกับคนที่หลากหลายอย่างไรบ้าง? เพื่อเตรียมคำตอบไว้สำหรับคำถามที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต…