หากเดินไปตามร้านหนังสือจะพบหนังสือเกี่ยวกับทำอย่างไรให้รวยเร็ว ออกมาทำธุรกิจส่วนตัวต้องทำอย่างไร และคำแนะนำให้ “ลาออกจากการเป็นลูกจ้าง” เต็มไปหมด
ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เพราะการเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวมีโอกาสสร้างความมั่งคั่งได้มากกว่าการเป็นลูกจ้างอย่างแน่นอน เพียงแต่บางครั้งจำเป็นจะต้องมีบางสิ่งที่มากกว่าเพียงแค่ความอยาก สิ่งเหล่านี้คืออะไร?
หนังสือ So Good They Can’t Ignore You ของ คาร์ล นิวพอร์ต (Cal Newport) พูดไว้อย่างสนใจถึงสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองข้ามและลืมคิดไไตร่ตรองก่อนยื่นซองจดหมายลาออกจากงาน คือทักษะชั้นยอด ที่มีความแตกต่าง โดดเด่นอย่างหาคนเทียบได้ยาก และมีคุณค่าต่อผู้อื่นอย่างยิ่ง หรือเรียกตามหนังสือว่า Career Capital
เขาบอกว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดเกี่ยวกับคำว่าความรักและหลงไหลในสิ่งที่ทำ หรือ Passion มากเสียจนมีแต่คนลาออกจากงานประจำเต็มไปหมด อาจเป็นเพราะความเข้าใจผิด หรือฟังต่อๆกันมาว่า ถ้าอยากประสบความสำเร็จ และมีความสุขกับงานที่ทำ จำเป็นจะต้องค้นหาสิ่งที่ตนเองชื่นชอบ และทำงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น
คนส่วนใหญ่ลาออกจากงาน ตามหาสิ่งที่ตนเองรัก และชื่นชอบ กลับต้องผิดหวัง เพราะความชื่นชอบในสิ่งใดสิ่งหนึ่งสามารถเพิ่มขึ้น หรือลดลงได้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และปัจจัยหลายอย่าง อีกทั้งไม่มีทักษะที่เก่งกาจอันเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกล่าวถึงต่อไปที่ส่งผลต่อความรัก ความชื่นชอบในงานที่ทำ
ตัวอย่างหนึ่งที่เขากล่าวถึง….
พนักงานบริษัทสาวคนหนึ่งที่ลาออกจากงานประจำไปเป็นครูสอนโยคะ เพราะโยคะเป็นสิ่งที่เธอชื่นชอบ แต่ท้ายที่สุดก็ล้มเหลว เพราะเธอไม่มีความสามารถที่จะเป็นครูสอนโยคะที่โดดเด่น แตกต่าง และดึงดูดใจมากพอให้คนมาเรียนอย่างต่อเนื่อง
จนสามารถเลี้ยงชีพได้จากอาชีพครูสอนโยคะ…
เพราะฉะนั้นจึงอาจสรุปได้ว่าการทำสิ่งที่รัก ไม่การันตีความสำเร็จเสมอไป แต่การมีทักษะที่เก่งกาจต่างหากถึงจะการันตีความสำเร็จ!
คาร์ล นิวพอร์ตแนะนำให้คิดแบบ Craftsman mindset กล่าวคือคิดแบบช่างฝีมือที่ค่อยๆประดิษฐ์ ตกแต่งเสริมทักษะความสามารถให้ดียิ่งขึ้นจนเป็นทักษะชั้นยอด หรือ Career Capital อันนำไปสู่ความสำเร็จในอาชีพ และส่งผลต่อความสุขในการทำงาน
อย่างไรก็ดี Craftsman mindset ต้องอาศัยการฝึกฝนแบบ Deliberate practice ซึ่งอาศัยระยะเวลา และความเข้มข้นอย่างมากในเพิ่มพูนความทักษะจนกลายเป็น Career Capital
>>> อ่านบทความเกี่ยวกับ Deliberate practice
เมื่อมีทักษะชั้นยอด จนหาคนเทียบได้ยากแล้ว การทำงานก็จะเพิ่มโอกาสสู่ความสำเร็จ เมื่อประสบความสำเร็จ เราก็จะรักงานที่ทำมากยิ่งขึ้น เพราะคงไม่มีใครรักงานที่ตนเองล้มเหลวบ่อยครั้งอย่างแน่นอน
จากเรื่องราวข้างต้นอาจจะเขียนสรุปออกมาเป็นสูตรได้ดังนี้
งานแบบสมัยนิยม
Passion > Find a job = Success & Happiness
งานแบบคาร์ล นิวพอร์ต
Craftsman mindset > Deliberate practice > Career Capital > = Success & Happiness > Passion
นอกจากนี้เขายังเสริมอีกว่า งานที่คนส่วนใหญ่บอกว่าเป็นงานที่รัก และเป็นสิ่งที่ตนเองชื่นชอบนั้น จะต้องมีปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญด้วย
1.เป็นงานที่มีอิสระ ความยืดหยุ่นสูง
งานที่เราทำจำเป็นจะต้องได้รับอิสระทางความคิด สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง คงไม่มีใครชอบงานที่ต้องถามหัวหน้าตลอด และไม่สามารถนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้ได้
อย่างไรก็ดีอิสระในการทำงาน จะแปรผันตามทักษะความสามารถที่สูงขึ้น เพราะเมื่อทักษะสูงขึ้น ก็จะได้รับความเชื่อใจจากหัวหน้างานมากยิ่งขึ้น
หากเรียกร้องอิสรภาพในการทำงานแต่ไร้ซึ่งความสามารถ ก็จะกลายเป็นการเรียกร้องเกินจริง ไม่มีนายจ้างคนไหนให้อิสระคุณขนาดนั้นได้
2.เป็นงานที่มีคนยินดีจ่ายเงินให้
เขาบอกว่างานที่ทำควรเป็นงานที่คนอื่นเห็นคุณค่า และยินดีจะจ่ายเงินให้ เพราะสิ่งที่เราชอบบางครั้งไม่สามารถทำให้คนอื่นจ่ายเงินให้ได้ ท้ายที่สุดก็ต้องล้มเลิกไป ไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้
3.มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่
เมื่อมีทักษะความสามารถสูงขึ้น งานที่ทำสามารถต่อยอด และสร้างผลกระทบในวงกว้างจนมีความหมายต่อผู้อื่น จะยิ่งช่วยส่งเสริมให้เกิดความรักในงานที่ทำมากยิ่งขึ้นไปอีก แต่จำเป็นจะต้องมี Career Capital หรือทักษะชั้นยอดเสียก่อน
สรุป
อย่าเพิ่งลาออกไปตามหาความฝัน หากยังไม่มีทักษะที่ยอดเยี่ยม หรือ Career Capital เพราะทักษะชั้นยอดจะเป็นใบเบิกทางไปสู่งานที่สร้างความสำเร็จ จนกลายเป็นงาน หรืออาชีพที่เรารัก และสร้างความสุขในชีวิตได้ในที่สุด