หนังสือเล่มหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตคนนับล้าน จากยอดขายกว่า 25 ล้านเล่มทั่วโลก คือ 7 Habits of Highly Effective People เขียนโดย Stephen R.Covey (สตีเฟ่น อาร์ โควีย์) ผู้ล่วงลับ
หนังสือเล่มนี้ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้ง และยังติดอันดับหนังสือยอดนิยมจนถึงทุกวันนี้
หากมีเวลาผมขอแนะนำให้หามาอ่าน แต่ถ้าไม่มีเวลามากพอ ผมขอสรุปหนังสือให้อ่านในระยะเวลาสั้น ๆ แบบเข้าใจ และนำไปปฎิบัติได้
หนังสือแบ่งอุปนิสัยที่คนประสิทธิผลสูงควรทำออกเป็น 7 ข้อ โดยแบ่งอุปนิสัยที่ 1 ถึง 3 เป็นส่วนของการพึ่งพาตนเอง และอุปนิสัย 4-6 เป็นการทำงานร่วมกับผู้อื่น และอุปนิสัยที่ 7 คือการทำให้อุปนิสัยทั้งหมดให้เฉียมคมขึ้น
ส่วนที่1: พึ่งพาตนเอง
อุปนิสัยที่ 1 โปรแอคทีฟ (Be Proactive)
จำง่าย ๆ เลยว่าทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตล้วนเกิดขึ้นจากผลลัพธ์ของการกระทำของคุณ
คนที่มีอุปนิสัยนี้จะเป็นคนทำงานเชิงรุก ไม่ตั้งรับรอโชคชะตา แต่จะตัดสินใจทำอะไรบางอย่างเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ
แตกต่างจากคนที่มีอุปนิสัยแบบ Reactive คือตอบสนองต่อสิ่งเร้า เป็นผู้ถูกกระทำเพียงอย่างเดียว
อุปนิสัยที่ 2 เริ่มต้นที่จุดหมายบั้นปลาย (Begin with the End in Mind)
เริ่มต้นด้วยจุดหมายในใจ หรือเรียกง่าย ๆ ว่ามีเป้าหมายในชีวิต
ให้ลองคิดถึงชีวิตในบั้นปลายที่หลุมศพ..
อยากให้ญาติพี่น้อง หรือคนที่คุณรู้จักพูดถึงคุณอย่างไร
อยากประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างไร
ก็ให้ตั้งเป็นจุดหมายปลายทาง แล้วมองย้อนกลับมายังปัจจุบัน
ทำทุกอย่างให้สัมพันธ์กับเป้าหมาย ตระหนักถึงความต้องการในชีวิตตลอดเวลา และจงทำให้มั่นใจว่าเป้าหมายเป็นสิ่งที่ต้องการแท้จริง
ไม่งั้นคุณอาจกำลังปีนบันไดผิดกำแพงก็เป็นได้
อุปนิสัยที่ 3 ทำสิ่งสำคัญก่อน (Put First Things First)
จงทำสิ่งที่สำคัญ และไม่เร่งด่วนก่อน เช่น
- ออกกำลังกาย
- วางแผนสำหรับอนาคต
- พัฒนาตนเอง
- ฯลฯ
อย่าปล่อยให้ทุกอย่างเร่งด่วน แล้วค่อยลงมือทำ พยายามมองทุกอย่างในระยะยาว แต่ลงมือทำอย่างสม่ำเสมอในทุกวัน
เราอาจเคยเข้าใจว่าควรทำสิ่งที่เร่งด่วน และสำคัญก่อน แต่แท้จริงแล้วการปล่อยให้ทุกอย่างด่วนจนวินาทีสุดท้าย ทำให้ชีวิตคุณวุ่นวาย และกลายเป็นคน Reactive
ส่วนสิ่งที่ไม่สำคัญ และเร่งด่วน หากให้คนอื่นทำได้ ก็แบ่งงานเหล่านี้ไปเสีย
ท้ายที่สุดสิ่งที่ไม่สำคัญ และไม่เร่งด่วน เช่นดูทีวีที่ไม่เกิดประโยชน์ ติดอินเตอร์เน็ต ควรลดลงให้เหลือน้อยที่สุด
ส่วนที่ 2 : พึ่งพาซึ่งกันและกัน
อุปนิสัยที่ 4 คิดแบบได้ทุกฝ่าย (Think Win-Win)
หลังจากที่สร้างชัยชนะให้กับตนเองได้แล้ว ขั้นต่อไปต้องสามารถทำงานร่วมกันคนอื่นได้
ซึ่งการสร้างความปรองดองสามัคคีอันเกิดผลลัพธ์ได้สูงสุดต้องคิดแบบชนะทุกฝ่าย คือไม่ใช่ว่าใครได้ ใครเสียผลประโยชน์ แต่ต้องทำให้ทุกฝ่ายไม่มีการเสียเปรียบกัน
อุปนิสัยที่ 5 เข้าใจผู้อื่นก่อน (Seek First to Understand then to be Understood)
สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เกิดความร่วมมือกันต้องมีความพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้าใจผู้อื่นเสียก่อน
เมื่อเข้าใจความคิดเบื้องหลังการกระทำแล้ว จึงสามารถตัดสินใจว่าจะสร้างความสัมพันธ์อันก่อให้เกิดความร่วมมือกันได้อย่างไร
หลายคนอยากให้คนอื่นเข้าใจ แต่ไม่เคยที่จะหัดเข้าใจคนอื่นบ้าง
ต้องรู้จักหัดฟังคนอื่น เพื่อทำความเข้าใจเหนือคำพูดที่คิดอยากจะสื่อออกไปฝ่ายเดียว
อุปนิสัยที่ 6 ผนึกพลังประสานความต่าง (Synergize)
เมื่อคิดแบบชนะทุกฝ่ายแล้ว เข้าใจคนอื่นเสียก่อนแล้ว ก็ต้องเรียนรู้ที่จะผนึกกำลังประสานความแตกต่าง
นำความต่างมารวมเข้าด้วยกันเพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลร่วมกัน
ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกันถึงจะทำงานด้วยกันได้ หากรู้จักการนำข้อดีของแต่ละฝ่ายมาปรับใช้
ส่วนที่ 3 : สร้างเสริมให้เฉียบคม
อุปนิสัยที่ 7 Sharpen the Saw
หมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ฝึกปรือความคิด และทักษะให้เฉียบคม
หากต้องตัดต้นไม้ใหญ่ แทนที่จะมัวมุ่งมั่นตัดต้นไม้แต่เพียงอย่างเดียว แต่ให้รู้จักลับเลื่อยให้คม จะประหยัดพลังงานทุ่นแรงไปได้
หัดอ่านหนังสือ เข้าคอร์สอบรม เรียนรู้จากสาระที่มีมากมายทั่วไป หรือจากคนที่เก่งกว่า ประสบการณ์มากกว่า
สรุป
ความจริงแล้วหนังสือเล่มดังกล่าวนี้ควรอ่านซ้ำหลายรอบ และควรจะหาเล่มจริงมาอ่าน เพราะมีรายละเอียดอีกมากมายที่มีประโยชน์สามารถนำมาปรับใช้
ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งเข้าใจเนื้อหาลึกซึ้งยิ่งขึ้น การจะมีหนังสือเล่มนี้ติดชั้นหนังสือ หรือติดตัวไปจึงเป็นสิ่งสมควรอย่างยิ่ง
แต่ถ้ามีเวลาไม่มาก การอ่านสรุปให้ขึ้นใจ และเน้นหนักที่การลงมือทำอย่างต่อเนื่องก็ได้ผลดีไม่แพ้กันครับ