มักจะมีคนถามคุณวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซี.พี.ค้าปลีกและการตลาด จำกัด อยู่บ่อย ๆ ว่า…
“อะไรเป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จขององค์กร? หากปัจจัยเหล่านั้นมีหลายปัจจัย ขอให้ยกปัจจัยสำคัญที่สุดเพียงหนึ่งปัจจัย?”
คุณวิเศษจะตอบเสมอ ๆ ว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือ “คน” หากปราศจากคนในองค์กรและคนที่บริษัทเกี่ยวข้องด้วยแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็เกิดขึ้นไม่ได้ และ “คน” ก็ยังสามารถนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จและความล้มเหลวได้เช่นกัน
ที่บริษัท ซี.พี.ค้าปลีกและการตลาด จำกัด “คน” จึงต้องได้รับการจัดการที่ดี ต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และหลักในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของที่นี่ จะใช้หลักธรรมชาติ ธรรมชาติของมนุษย์ คุณวิเศษอธิบายว่า…
“หากเรารู้ธรรมชาติของมนุษย์ เราก็จะบริหารทรัพยากรมนุษย์ได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ มนุษย์ทุกคนมีความต้องการและมีเป้าหมายชีวิตที่แตกต่างกัน บางคนอาจมีเป้าหมายชีวิตอยู่ที่ความร่ำรวย มีทรัพย์สินมากมาย บางคนอาจมีเป้าหมายอยู่ที่การมีชื่อเสียง มีเกียรติประวัติเป็นที่ยอมรับของสังคม บางคนอาจต้องการใช้ชีวิตที่มีโอกาสค้นหาสิ่งใหม่ ๆ หรือบางคนอาจต้องการแค่ใช้ชีวิตอย่างสมถะ”
“เหล่านี้ล้วนเป็นความแตกต่างของแต่ละปัจเจกบุคคล นอกจากนั้นก็ยังมีระดับสูงต่ำมากน้อยแตกต่างกัน แต่จุดหมายปลายทางจะไม่แตกต่างกันมากนัก นั่นคือ ‘ความสุขและการมีคุณภาพชีวิตที่ดี’ หากเขาพบว่าสิ่งที่เราบริหารจัดการ เป็นเส้นทางเดียวกับสิ่งที่จะนำพาเขาไปสู่ความต้องการและเป้าหมายชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ด้วย ‘ใจ’ ที่เต็มเปี่ยมด้วยพลัง”
ดังนั้น หลักในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของ บริษัท ซี.พี.ค้าปลีกและการตลาด จำกัด จึงใช้หลัก “4 ใจ”
1. เข้าใจ
มนุษย์ทุกคนมีความแตกต่างกัน ทั้งทางสรีระ สติปัญญา และจิตใจ จึงจำเป็นจะต้องเข้าใจเขา ไม่ว่าจะเป็นจุดเด่น จุดด้อย ความรู้ ความสามารถ จริต อุดมการณ์ ความคิด พื้นฐานครอบครัว และอื่น ๆ อีกมากมาย
การเข้าใจความแตกต่างของมนุษย์ ทำให้สามารถเลือกมอบหมายหน้าที่การงานให้ถูกต้องกับคนแต่ละประเภท เป็นการนำเอาความรู้ ความสามารถ ความเก่งกาจของเขาออกมาใช้ให้ได้ผลอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็จะหลีกเลี่ยงการมอบหมายงานให้กับคนที่ไม่สามารถทำงานนั้น เพื่อป้องกันการเกิดผลลัพธ์อันไม่พึงประสงค์ขึ้นได้
คนที่มีโอกาสได้ทำงานในสิ่งที่ตนรัก ตนถนัด ย่อมทำงานนั้นอย่างมีความสุข และได้ผลงานที่มีคุณภาพ
2. จูงใจ
มนุษย์ทุกคนมีความสุขใจ หรือความสะดวกใจที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากน้อยไม่เท่ากัน ซึ่งจะเรียกขอบเขตความสะดวกใจนั้นว่า “Comfort Zone”
เมื่อเข้าใจเขาดีแล้ว ก็จะรู้ว่า “Comfort Zone” ของเขามากน้อยเพียงใด และจะดีขึ้นมาก ถ้าคนเรามี “Comfort Zone” ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไปศักยภาพในการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็จะมากขึ้นเรื่อย ๆ
“การจูงใจ” จึงประกอบด้วย 5 ความกล้า คือกล้าเรียนรู้ กล้าคิด กล้านำเสนอ กล้าทำ และกล้ารับผิดชอบ
ปัจจุบัน ความรู้และวิทยาการต่าง ๆ ได้ถูกค้นคิดขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา ประกอบกับการปฏิบัติงานให้สัมฤทธิผลมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น จำเป็นจะต้องใช้ความรู้ที่ผสมผสานกันหลายแขนง (Multidisciplinary Knowledge) วิศวกรอาจต้องใช้ความรู้ด้านบัญชีการเงิน หรือวิทยาศาสตร์อาหารเพิ่มเติม นักการตลาดอาจต้องใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มเติม เป็นต้น
การจูงใจให้กล้าที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองไม่ถนัดจะทำให้วันหนึ่ง สิ่งนั้นกลายเป็นสิ่งที่รู้และถนัดขึ้นมาได้ ขอบเขตความสะดวกใจในความรู้ก็จะกว้างใหญ่ขึ้น รู้มาก ก็มีวัตถุดิบในการคิดมาก
บริษัทจะจูงใจให้เขากล้าคิด และกล้าที่จะนำความคิดนั้นมาแลกเปลี่ยนกับคนอื่นในองค์กร ความคิดนั้นอาจเอื้อประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับผู้อื่นก็เป็นได้ เมื่อความมั่นใจในสิ่งที่คิดมีมากขึ้น ขอบเขตความสะดวกใจในการนำเสนอก็ใหญ่ขึ้น และพัฒนาจากความกล้าเสนอไปสู่ความกล้าทำ และกล้ารับผิดชอบในที่สุด
บริษัทจะต้องเปิดโอกาสให้เกิด 5 ความกล้านี้ ผลลัพธ์อาจมีถูก-มีผิด ถูกเป็นพลังใจ ผิดเป็นครู และจะได้รับการนำไปแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป โดยจะต้องไม่นำมาเป็นอุปสรรคปิดกั้นความกล้านี้ให้หายไป
3. สานใจ
ในองค์กรย่อมประกอบด้วยคนจำนวนมาก มีหน้าที่แตกต่างกันไป หากได้นำเอาความรู้ ความสามารถของแต่ละคนมาเกื้อกูลกัน จะเกิดพลังขึ้นอย่างมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องส่งเสริมการทำงานเป็นทีม ด้วยการจัดการทีมงานข้ามสายงานโดยมีเป้าหมายร่วมกัน
นอกจากการทำงานเป็นทีม โดยมี “งาน” เป็นตัวสานใจแล้ว เรายังสามารถใช้ “ความชอบ” ที่เหมือนกันของแต่ละคน มาเป็นตัวสานใจ โดยผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ คนที่ชอบเล่นดนตรี เมื่อเราจัดให้มีชมรมดนตรี มีเครื่องดนตรีครบครัน พวกเขาเหล่านั้นก็จะมารวมตัวกันเล่นดนตรีในเวลาที่เว้นว่างจากการทำงานได้
คนใดคนหนึ่งอาจมีหลายความชอบ ก็อาจร่วมกิจกรรมกับคนได้หลายกลุ่ม เป็นการขยายขอบข่ายการ “สานใจ” ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น การทำงานเป็นทีมและการทำกิจกรรมร่วมกัน ยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการ “เข้าใจ” และการ “จูงใจ” ใน 2 ข้อแรก เป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกันไปกับคนอื่น ๆ ได้อีกด้วย
4. ได้ใจ
องค์กรที่มีความยั่งยืน จะต้องเป็นองค์กรที่มีชีวิต มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และแน่นอนว่า ในทุกช่วงเวลาที่ผ่านไปจะมีอุปสรรคอยู่บ้าง
สิ่งที่จะยึดเหนี่ยวให้ทุกคนในองค์กรร่วมแรงร่วมใจฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นไปได้ ก็ด้วยใจที่ “รักและผูกพัน” ต่อองค์กร เสมือนครอบครัวเดียวกัน ผู้อาวุโสมากกว่าจะต้องมีความเมตตา ผู้อาวุโสน้อยกว่าจะต้องมีความนับถือ โดยทุก ๆ คนจะเป็นแบบอย่างที่ดี (Role Model) ต่อกันและกัน
คุณวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู สรุปถึง “หลัก 4 ใจ” ของบริษัท ซี.พี.ค้าปลีกและการตลาด จำกัด ว่า…
“มีเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผล นั่นก็คือ ‘การสื่อสารเพื่อความเข้าใจในองค์กร’ การสื่อสารภายในองค์กรเราทำได้หลายช่องทางและหลายสื่อ อาทิ การติดประกาศ, วิทยุเสียงตามสาย, Digital Signage, เว็บไซต์, การประชุม, การสัมมนา เป็นต้น
รวมถึงการใช้ห้องสนทนาในระบบสื่อสารบนสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งนี้ การสื่อสารทั้งหมดมีจุดมุ่งหมายเพื่อความเข้าใจร่วมกันในองค์กร ตั้งแต่ปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ ค่านิยมองค์กร วิสัยทัศน์ เรื่อยมาจนถึงส่วนที่ย่อยที่สุดในระดับบุคคล ทุกคนจะทราบถึงบทบาท หน้าที่ และ KPI ของตนเอง”
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละองค์กรเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ บนโลก ไม่ว่าจะเป็นวิทยาการ เทคโนโลยี ระเบียบการค้าระดับโลก สภาพสังคม สิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ จะเกิดขึ้นตลอดเวลาและรวดเร็วมากขึ้น… องค์กรจึงต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น
ในอดีต วิทยาการต่าง ๆ อาจใช้เวลาถึง 20 ปี ในการพัฒนาให้เกิดขึ้นใหม่เพื่อทดแทนของเดิมที่ใช้อยู่ แต่ในปัจจุบัน วิทยาการใหม่ ๆ อาจมีอายุเพียง 20 เดือน และในอนาคต อาจมีวิทยาการใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุก 20 สัปดาห์ ก็เป็นไปได้
คนที่ไม่ได้รับการพัฒนาและเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ก็จะเกิดช่องว่างที่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่สามารถปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
คุณวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู ย้ำปิดท้ายถึงปัจจัยสำคัญในความสำเร็จขององค์กร ว่า…
“ไม่มีใครไม่ทำงานร่วมกับ ‘คน’ ไม่ว่าจะเป็นเพียงคน 2 คน หรือคนหมู่มาก เราต่างต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน เพื่อให้ผลลัพธ์ของงานเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ หากคนหนึ่งเดินเร็ว อีกคนหนึ่งเดินช้า นั่นหมายถึงเราอาจต้องการพัฒนา (HRD)
หากคนหนึ่งตัวสูงเอื้อมถึง อีกคนหนึ่งตัวเตี้ยเอื้อมไม่ถึง เราอาจต้องการการจัดการ (HRM) งานบุคคลเป็นงานที่ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ผมจึงเชื่อว่า ผู้บริหารทุกคนต้องเป็น HR Manager ในตัวคนเดียวกันด้วยครับ”