ทุกวันนี้สำหรับคนที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็น เชื่อเหลือเกินว่าไม่มีใครไม่รู้จัก Google เสิร์ชเอ็นจิ้นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก และเป็นบริษัทเอกชนที่มีรายได้สูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา
แต่ทั้งนี้ ความยิ่งใหญ่ของ Google ไม่ได้วัดกันเพียงแค่ผลกำไร หากแต่วัดกันที่ความพึงพอใจ ที่คนทั่วโลกยินดีมอบให้เพราะสามารถ ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หาก CEO ผู้นำบริษัท ไม่มีวิสัยทัศน์ ที่แหลมคมและกว้างไกลมากพอ
นั่นเองที่ทำให้หลายคนอาจเซอร์ไพร์สว่า ทำไม “ซันดาร์ พิชัย” (Sundar Pichai) วิศวกรวัย 43 ปี ชาวอินเดีย ถึงได้รับความไว้วางใจ ให้ดำรงตำแหน่ง CEO คนใหม่ แทน “ลาลี่ เพจ” ที่ย้ายไปคุม Alphabet บริษัทใหม่ที่สร้างขึ้นมาเพื่อปรับโครงสร้าง Google ให้สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซึ่งต่อจากนี้ไป คือ 3 คมความคิดและเรื่องราวชีวิต ของ “ซันดาร์ พิชัย” ที่จะช่วอยอธิบายทุกคนบางส่วนว่า ทำไม Google ถึงต้องเลือกเขา
1.ความต้องการของลูกค้า คือทิศทางความก้าวหน้าของธุรกิจ
พิชัยเริ่มเข้ามาทำงานกับกูเกิลเมื่อปี ค.ศ.2004 โดยตอนนั้นเขาก็เป็นเพียงแค่พนักงานธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่ได้รับการวางตำแหน่งให้อยู่ร่วมในทีมพัฒนา Search Toolbar โดยมีหน้าที่ผลิตผลงานที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการค้นหาให้กับผู้ใช้อินเตอร์เน็ต
ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้น IE คือบราวเซอร์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด โปรเจคของทีมพิชัย จึงไม่นับว่าเป็นสิ่งที่อยู่ในเป้าหมายหลัก ที่จะสร้างผลกำไรอันมหาศาลได้ตามแบบอย่างที่ธุรกิจต้องการ
หากแต่ในความคิดของพิชัยแล้ว เขามีหน้าที่ทำงานของตัวเองให้ดีที่สุด และคิดว่ายังไง “ความสะดวกสบายของผู้ใช้” ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ตอบโจทย์ได้มากที่สุดอยู่วันยังค่ำ
ซึ่งด้วยวิสัยทัศน์แบบนี้ เขาจึงไม่ลดละความมุ่งมั่น ที่มีต่องานที่ทำในทุกวัน จนได้คิดโปรเจค Google Chrome ขึ้นมาเสนอ เพจ และ บริน ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูงของกูเกิล ซึ่งผลปรากฎว่า ทั้ง 2 คนนั้นชื่นชอบในไอเดียโปรเจคของพิชัยมาก แต่ก็แน่นอนที่มีผู้บริหารระดับสูงบางคน ไม่เห็นด้วยกับไอเดียนี้ เนื่องจากมองว่า เป็นโครงการที่ฟุ่มเฟือยเกินไป
แต่ด้วยเพราะพื้นฐานความคิด ที่มุ่งประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้เป็นหลัก ทำให้ Chrome กลายเป็นปรากฎการณ์ใหม่ ที่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วโลกไปตลอดกาล และที่สำคัญมันคือก้าวหนึ่งแห่งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ Google โดยสามารถแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดมาได้มากถึง 45% เมื่อถูกปล่อยออกไปให้โลกได้รู้จัก
จากความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ พิชัย เติบโตขึ้นในองค์กร เขาได้รับมอบหมายให้ดูแลพัฒนาโปรเจคสำคัญๆ อีกหลายโปรเจค อาทิ Gmail, Google Dive, Google Map ตลอดไปจนถึงโปรเจคใหญ่ อย่างการพัฒนาระบบปฏิบัติการ Android ฯลฯ ซึ่งพิชัย ก็สามารถดูแลได้ดีในทุก ๆ โปรเจค
โดยไม่ว่าเขาจะได้รับมอบหมายให้ดูแลงานเล็กหรือใหญ่แค่ไหน สิ่งที่เขายึดมั่นเสมอก็คือ การทำงานโดยคิดถึงผู้ใช้เป็นหลัก เพราะไม่มีว่าจะเป็นธุรกิจอะไร สิ่งสำคัญที่สุดที่คนทำงาน และผู้ประกอบการควรใส่ใจ ก็คือ ความต้องการของลูกค้า และเมื่อใดก็ตามที่ลูกค้าพอใจ เมื่อนั้นเส้นทางแห่งความสำเร็จ ก็จะถูกทอดยาวต่อไปให้เราเดินได้อย่างมั่นคงจนถึงความสำเร็จ
ดังที่ครั้งหนึ่ง เขาเคยกล่าวไว้ว่า
“The right moral compass is trying hard to think about what customers want.”
2.เกียรติยศแห่งความสำเร็จ สร้างเสร็จได้จากความล้มเหลว
ถึงแม้พิชัยจะขึ้นชื่อว่าเป็นเด็กฉลาด โดยเขาเรียนจบปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมวัสดุ จาก Indian Institute of Technology Kharagpur และได้รับทุนไปเรียนต่อจนจบปริญญาโท ที่ Stanford University แต่เมื่อเข้ามาทำงานใน Google เขาก็เพียงแค่ คนเก่งคนหนึ่งในองค์กรหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นองค์กรที่รวมคนเก่งเอาไว้มากที่สุดในโลกเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ ท่ามกลางคนเก่งมากมาย เขาจึงต้องใช้เวลาถึง 12 ปี เพื่อพิสูจน์ตัวเอง ให้ทุกคนเห็นว่าเข้าคู่ควรกับตำแหน่ง CEO คนใหม่ของกูเกิล วิศวกรเชื้อสายอินเดียแท้ ๆ ผู้เติบโตในรัฐทมิฬนาดู ซึ่งมี จำนวนประชากรเกือบเท่าประชากรทั้งประเทศของสิงค์โปร์
ต้องผ่านการต่อสู้ทางความคิดมาอย่างโชกโชน โดยกว่าที่จะก้าวมาถึงจุดนนี้ได้ เขาก็ต้องผ่านความล้มเหลว ถูกคัดค้าน ต่อต้าน และไม่ได้รับการยอมรับมานับครั้งไม่ถ้วน
แต่เพราะ เขาเชื่อเสมอว่า ความล้มเหลวคือสิ่งที่จะช่วยผลักดัน ให้คนเราเข้าใกล้ความสำเร็จได้ พิชัยจึงไม่เคยย่อท้อและยอมแพ้ต่อโชคชะตา ไม่ว่าจะทางด้านสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวในวัยเด็ก
ที่ก็แทบจะเรียกได้ว่ายากจน หรือ ไม่ว่าจะในด้าน ที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ มากมายทั้งตอนเรียน หรือตอนทำงานที่กูเกิล จนในที่สุด เขาก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ความล้มเหลวไม่อาจหยุดยั้งเขาได้ เพราะตราบใดก็ตามที่ใจยังสู้และต้องการความสำเร็จ ทุกอย่างก็จะสร้างเสร็จได้ ด้วยความตั้งใจของเรา
ครั้งหนึ่ง พิชัย เคยกล่าวไว้ว่า…
“Wear your failure as a badge of honor!”
ซึ่งนับได้ว่าเป็นวิถีคิดที่สอนให้ มองความความล้มเหลวในมุมบวก เพราะถ้าอยากจะประสบความสำเร็จให้ได้ ยังไงก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความล้มเหลวให้เป็น
3.ตามหัวใจไปสุดฝัน คือ สิ่งสำคัญของการมีชีวิต
ในฐานะ CEO คนใหม่ของกูเกิล พิชัยคือความภูมิใจของคนอินเดียทั้งประเทศ ซึ่งครั้งหนึ่ง เขาเคยส่งมอบแรงบันดาลใจ ให้กับทุกคนที่อยากประสบความสำเร็จ ผ่านบทสัมภาษณ์ว่า
“What is important is that you need to follow your dreams and follow your heart.”
คำพูดดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ ของพิชัยที่เชื่อมั่นว่า ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ จากการที่เราได้ทำในสิ่งที่รัก และรักในสิ่งที่ทำ
ซึ่งถ้าไล่นับดูเส้นทางชีวิตของพิชัยตั้งแต่ตอนเรียน ที่เขาเลือกเรียนในสายวิศวกรรมวัสดุ จนจบปริญญาโท มาจนกระทั่งถึงตอนได้เรียนต่อปริญญาเอกในสาขา Materials science and semiconductor physics แต่ต้องหยุดเรียนกลางทางเพื่อออกไปทำงานเป็นโปรดักส์เอนจิเนียร์ ให้กับบริษัทผู้ผลิต semiconductor ในซิลิคอนวัลเลย์ ก่อนจะย้ายมาทำงานให้กับกูเกิลแล้ว
เราจะพบว่า พิชัยมีความแน่วแน่และมั่นคงในสิ่งที่ตัวเองเลือกอย่างมาก นั่นเพราะเขารู้ตัวรู้ใจตัวเองมาตลอดว่า เขาฝัน รัก และชอบ ที่จะเป็นอะไร ทำงานแบบไหน ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะได้อิทธิพลมาจากพ่อของเขาที่ทำงานเป็นวิศวกร ในโรงงานประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์
แต่ถึงแม้จะได้รับอิทธิพลมาจากใครก็แล้วแต่ สิ่งสำคัญก็คือเราต้องค้นหาหัวใจตัวเองให้เจอ เพราะถ้าเราเอาแต่เดินตามความฝันของคนอื่น สุดท้ายแล้วเราก็จะไม่สามารถเดินไปได้ไกลมากพอ จนถึงจุดหมายปลายทาง
- รักในสิ่งที่ทำ
- เข้าใจว่าความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ
- ทำงานโดยคิดถึงประโยชน์ของลูกค้าเป็นที่ตั้ง
นี่คือ 3 คมความคิดสำคัญที่ ซันดาร์ พิชัย แสดงให้เราได้เห็น ผ่านเรื่องราวชีวิตของเขา ซึ่งมันก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งจากอีกหลายๆ ส่วนสำคัญ ที่ทำให้พิชัยได้รับการยอมรับ ไว้ใจ และก้าวขึ้นไปเป็น CEO คนใหม่ของกูเกิลได้เป็นผลสำเร็จ
ซึ่งก็แน่นอนด้วยว่า 3 คมความคิดดังกล่าว น่าจะเป็นแนวทางความคิดที่ทุกธุรกิจ สามารถทำไปประยุกต์ปรับใช้ได้ เพื่อก้าวหน้าไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย อย่างที่ตั้งใจไว้เช่นกัน