การทำธุรกิจนั้น จะต้องมีการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ มากมายหลายเรื่อง หลายครั้งที่การตัดสินใจผิดพลาดอาจนำไปสู่ความล้มเหลวของธุรกิจ
หรือแม้แต่การตัดสินใจช้า ลังเล ก็มีโอกาสที่จะพลาดให้คู่แข่งแซงขึ้นไปได้ ดังนั้น การตัดสินใจจึงมีความสำคัญในการทำธุรกิจไม่น้อยเลยทีเดียว
แม้ว่าในชีวิตประจำวันของคนเราจะต้องมีการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ อยู่เป็นปกติ ไม่ว่าการจะตัดสินใจในการขับรถ ตัดสินใจเลือกรับประทานอาหาร ตัดสินใจเลือกเส้นทางในการเดินทาง
แต่เมื่อเป็นการตัดสินใจของธุรกิจ ความสำคัญของการตัดสินใจจึงมีมากขึ้นและไม่อาจที่จะตัดสินใจแบบง่าย ๆ ขอไปทีได้ เพราะการตัดสินใจหลายเรื่องมีผลถึงความอยู่รอดหรือล้มเหลวของธุรกิจ
ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องมีทักษะในการตัดสินใจที่เป็นพื้นฐานของความสำเร็จ
ความหมายของการตัดสินใจ
การตัดสินใจทางธุรกิจนั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้เหตุผลประกอบการตัดสินใจเป็นอย่างมาก น้อยมากที่จะใช้อารมณ์หรือความรู้สึกเข้ามาช่วย เพราะมีโอกาสที่จะทำให้เกิดความผิดพลาด
ซึ่งถ้าจะให้นิยามของการตัดสินใจที่สามารถมองเห็นภาพได้ก็คือ การเลือกที่จะกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งจากทางเลือกที่มีอยู่ด้วยกันหลายทาง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ
ซึ่งการตัดสินใจในการทำธุรกิจนั้น จะประกอบไปด้วยส่วนที่สำคัญ 3 ส่วนคือ
1. ทางเลือกในการตัดสินใจ
หากทางเลือกมีเพียงทางเดียวก็มีสิ่งที่ต้องคิดอยู่เพียงสองอย่างคือทำหรือไม่ทำ แต่ก็เป็นการตัดสินใจที่ยังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ซับซ้อน เพราะไม่มีอะไรต้องเปรียบเทียบมากนัก
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ทางเลือกมีมากขึ้น การตัดสินใจก็จะยากขึ้นตามลำดับเพราะต้องมีการเปรียบเทียบข้อมูลและข้อดีข้อเสียจากปัจจัยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
2. ปัจจัยประกอบการตัดสินใจ
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าการตัดสินใจเลือกที่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งในทางธุรกิจ จะต้องมีการพิจารณาเปรียบเทียบปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อเลือกสิ่งที่ดีที่สุด อย่างเช่น การตัดสินใจที่จะเปิดโรงงานเพื่อผลิตสินค้า ก็มีปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย
เช่น ทำเลที่ตั้ง ต้นทุนในการซื้อเครื่องจักร แรงงานที่มีอยู่ในพื้นที่ การขนส่งสินค้า ข้อบังคับทางด้านกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องมีการศึกษาปัจจัยและผลกระทบในด้านต่าง ๆ อย่างรอบคอบ
3. ผลของการตัดสินใจ
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังจากผู้ประกอบการได้ตัดสินใจทำอย่างใดอย่างหนึ่งไปแล้ว ซึ่งผลที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นไปตามที่คาดหวังเอาไว้หรือไม่ก็ได้ เพราะบางครั้งแม้จะมีการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ก่อนทำการตัดสินใจมาอย่างละเอียดรอบคอบ แต่อาจจะมีปัจจัยหลายอย่างที่ผู้ประกอบการไม่สามารถควบคุมได้เกิดขึ้น
เช่น ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายให้กับโรงงานผลิต ที่ทำให้ผลลัพธ์ในการตัดสินใจไม่เป็นไปตามที่คาดหวังได้
สภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการตัดสินใจ
แม้บางครั้งผู้ประกอบการจะเตรียมตัวศึกษาข้อมูลแวดล้อมและมีกระบวนการตัดสินใจที่เป็นขั้นตอน แต่ผลลัพธ์ของการตัดสินใจที่ได้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. สภาพแวดล้อมที่สามารถควบคุมได้
เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการสามารถดูแลจัดการให้เป็นไปตามอย่างที่ตนเองต้องการได้ เพื่อให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุดในการตัดสินใจและได้ผลลัพธ์อย่างที่คาดการณ์เอาไว้
2. สภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถควบคุมได้
เป็นปัจจัยทางภายนอกที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น อย่างเช่น การตกต่ำของภาวะเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติหรือ ปัจจัยทางการเมืองที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทำอย่างไรจึงจะตัดสินใจได้ดี
ทักษะในการตัดสินใจเป็นทักษะที่ผู้ประกอบการจะต้องมี เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะบอกได้ว่าธุรกิจจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการตัดสินใจที่ดีจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้สึกหรืออารมณ์ แต่จะใช้กระบวนการที่มีความเป็นเหตุเป็นผลเพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุด
ดังนั้น กระบวนการตัดสินใจทางธุรกิจจึงประกอบไปด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. กำหนดเป้าหมายที่ต้องการ
เพื่อที่จะได้รู้ว่าการตัดสินใจในครั้งนี้เป็นไปด้วยวัตถุประสงค์อะไร เช่น มีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนในการผลิต เป้าหมายในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและผู้บริโภค เป้าหมายในการสร้างผลกำไรของบริษัทให้มากขึ้น 10 %
ซึ่งการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนนี้ก็เพื่อที่จะได้กลับมาประเมินผลการตัดสินใจว่าช่วยให้ธุรกิจเป็นไปในทิศทางอย่างที่ต้องการหรือไม่
2. ระบุปัญหาที่เกิดขึ้น
เพื่อที่จะได้ทราบอย่างแน่ชัดว่าปัญหาที่ธุรกิจกำลังเผชิญอยู่นั้นคืออะไร มีความสำคัญและส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้การหาสาเหตุของปัญหาและการกำหนดวิธีการแก้ไขเป็นไปอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
3. จัดลำดับความสำคัญของปัญหา
เพื่อที่จะได้รู้ว่าควรจัดการแก้ไขปัญหาใดก่อน ซึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากควรเป็นปัญหาลำดับแรก ๆ ที่จะต้องหยิบยกมาพิจารณาและหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน
4. หาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา
เพื่อที่จะได้วางแผนในการแก้ไขอย่างตรงจุด อีกทั้งยังสามารถวางแนวทางในการป้องกันไม่ให้ปัญหานั้นเกิดขึ้นอีก หรือมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน ที่เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดปัญหานั้นขึ้นมาอีก ก็จะสามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว
5. กำหนดทางเลือกในการแก้ปัญหา
โดยพิจารณาทางเลือกที่เป็นไปได้ทั้งหมดก่อนจะเลือกวิธีการที่ดีที่สุด หรือส่งผลกระทบทางด้านลบ ต่อธุรกิจน้อยที่สุด
6. การตัดสินใจภายใต้ความเสี่ยง
เป็นภาวะที่มีความกดดันของ การทำธุรกิจ ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้มากที่สุด รวมถึงอาจจะสร้างตัวแบบทางเลือกในการตัดสินใจเพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด
การตัดสินใจทางธุรกิจเป็นสิ่งที่สามารถกำหนดชะตาของกิจการ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องมีการฝึกฝนทักษะในการตัดสินใจและต้องมีความเด็ดขาดที่จะต้องตัดสินใจในเวลาจำกัดเพื่อนำพาธุรกิจให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง