“จุดตัวเองก็ยอมทันใด ให้ลุกเป็นไฟขึ้นมา เพียงปรารถนา ให้มีลำแสงสีทอง จุดตัวเองก็ยอมทันใด ให้ลุกเป็นไฟขึ้นมา เพียงปรารถนา ดอกทานตะวัน หันมอง สักครั้ง”
เสียงเพลง ‘ไม้ขีดไฟกับดอกทานตะวัน’ ลอยวนอยู่กลางอากาศ
นี่เป็นผลงานการแต่งเพลงของผู้ชายคนหนึ่งที่ฝากผลงานเพลงไว้มากมาย อาทิ เช่น เพลงเพราะอะไร, ลมหายใจของกันและกัน, เธอหมุนรอบฉัน ฉันหมุนรอบเธอ และ อื่นๆ อีกมากมาย (อื่นๆ อีกมากมาย คือ ชื่อเพลงนะครับ)
เขาเป็นชายคนเดียวกับผู้อยู่เบื้องหลังรายการดังๆ ทั้ง ชิงร้อยชิงล้าน, เกมทศกัณฐ์, แฟนพันธุ์แท้, คุณพระช่วย หรือแม้แต่รายการเพลงอย่างชิงช้าสวรรค์
รวมทั้งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักแสดง นักร้องมากมาย รวมถึงวงดนตรีระดับตำนานอย่าง ‘เฉลียง’
ใช่แล้วครับคนที่ผมกำลังพูดถึงไม่ใช่ใครคนอื่น แต่เขาคือคนที่ครั้งหนึ่งผมเคยเขียนเรื่องราวของเขาเป็นตัวอักษร ลงจดหมายกระดาษจ่าหน้าซองถึงผู้หญิงคนหนึ่งเมื่อหลายปีที่แล้ว ในชื่อเรื่องว่า ‘เปิดใจ เก็บใจ ตอนฮีโร่ของผมชื่อ ประภาส ชลศรานนท์’
ชายผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ด้วยทุนจดทะเบียนเพียงหนึ่งล้านบาทเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนกับคุณปัญญา นิรันดร์กุล ก่อนที่เวิร์คพอยท์จะเป็นบริษัทที่มีมูลค่านับหมื่นล้านในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ ปัจจุบัน
ใช่แล้วครับวันนี้ชายคนที่ผมจะพูดถึง เขาชื่อประภาส ชลศรานนท์ หรือที่ใครหลายๆ คนเรียกว่า ‘พี่จิก’ คนส่วนใหญ่รู้จักเขาในฐานะนักคิด นักเขียน คอลัมน์นิสต์ชื่อดังของเมืองไทย หรือในอีกฐานะหนึ่งในฐานะเจ้าของอาณาจักรเวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ผู้คิดรายการ และเกมโชว์ดังๆ มากมายของเมืองไทย
ชายผู้เป็นนักปั้นและดัดแปลงจากเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องสนุกสนานบันเทิง เรื่องง่ายๆ ให้คนเสพ หรือ จับศิลปะวัฒนธรรม งานมรดกเก่าๆ มาดัดแปลงให้ร่วมสมัย
ดั่งเรื่องที่พี่จิกเคยเล่าถึงรายการ SME ตีแตก ที่ทำเรื่องเครียดๆ อย่างเรื่องธุรกิจมาผสมผสานกับความบันเทิงให้ลงตัว โดยเรื่องยากที่สุดคือการต้องใช้เวลาในการหาส่วนผสม และชั่งตวงวัดออกมาให้ได้สูตรผสมที่ลงตัวที่สุด
หรืออย่างรายการคุณพระช่วย กว่าจะเริ่มออนแอร์ได้ พี่จิก ประภาสต้องใช้เวลาหว่านล้อมคนในเวิร์คพอยท์อยู่นานให้เชื่อว่าศิลปวัฒนธรรมไทยสามารถนำประยุกต์ให้เป็นรายการที่สนุกและเหมาะกับคนดูที่คุ้นเคยกับ Pop Culture ได้
พี่จิกเคยบอกว่า “ถ้ามีงานสองงานให้เลือกระหว่าง งานง่ายและงานยาก ผมเลือกทำงานยาก เพราะงานง่ายมีคนเลือกทำเยอะแล้ว โดยจะพยายามทำงานด้วยความเชื่อว่าดีสำหรับคนดู”
นี่อาจเป็นสูตรสำเร็จของใครหลายๆ คน เลือกทำงานที่คนอื่นไม่ยอมทำ หรือ คนอื่นไม่เห็นคุณค่า แจ็ค หม่ายังเคยกล่าวไว้ว่า เคล็ดลับความสำเร็จของตน คือ ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่อยากทำ ทำในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้
ครั้งหนึ่งมีคนเคยถามพี่จิก ประภาสว่า “คนเราทำงานเพื่ออะไร”
พิ่จิกเล่าให้ฟังถึงเรื่องหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งไปสัมภาษณ์คนงานที่กำลังสร้างหอไอเฟลที่ประเทศฝรั่งเศส โดยมีคนงานสามคนถูกนำมาอ้างถึงว่าคนเราทำงานไปเพื่ออะไร
คนแรกบอกว่า “ก็ทำงานไปวันๆ ให้พอมีกินมีใช้ แล้วพอเลิกงานได้เหล้ากินสักสองสามเป๊กก็พอใจแล้ว”
คนที่สองให้สัมภาษณ์ว่า “ก็ทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว เขาทำงานนี้ด้วยความขยัน หวังว่าหัวหน้างานคงเห็น เขาจะได้เลื่อนขั้นมีหน้าที่การงานสูงขึ้น”
ส่วนคนที่สามให้สัมภาษณ์ว่า “ผมดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งของงานสร้างหอเหล็กที่สูงที่สุดในโลกแห่งนี้ เมื่อสร้างเสร็จคนจะเดินทางมาดูมากมาย ผมมีความภูมิใจเป็นอย่างมากกับงานวิศวกรรมอันยิ่งใหญ่นี้ เป็นเกียรติอย่างสูงของผมและวงศ์ตระกูล
พิ่จิกสรุปว่า คนแรกทำงานเพื่อทน คนที่สองทำงานเพื่อทำ ส่วนคนสุดท้ายทำงานเพื่อธรรม
ถ้าถามจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ จากรายการ ‘เวทีทอง’ เมื่อหลายปีก่อน จนขยับนำหุ้นเข้าจดทะเบียนหลักทรัพย์เพื่อสร้างสตูดิโอของตัวเอง จนที่สุดขยับขึ้นมาเจ้าของช่องทีวีอย่างทุกวันนี้คืออะไร
ถ้าตอบง่ายๆ อาจบอกว่าเกิดจากส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างคุณปัญญา นิรันดร์กุล กับพี่จิก ประภาส คนหนึ่งเป็นเอ็นเตอร์เทนเนอร์ รับบทพิธีกรสร้างความสนุกและเสียงหัวเราะให้คนดู อีกคนเป็นนักคิดรายการอยู่เบื้องหลัง บวกด้วยส่วนผสมที่ลงตัวของคนทำงานทั้งสามประเภท ทำงานเพื่อทน เพื่อทำ เพื่อธรรม
แต่ถ้าตอบยากๆ ความสำเร็จของเวิร์ดพอยท์น่ามาจากการผลิตรายการที่เป็นที่ชื่นชอบของคนดูผ่านยุคสมัย เอาบางเรื่องที่เป็นเรื่องยากๆ บางเรื่องก็เป็นเรื่องศิลปวัฒนธรรมสมัยก่อน เอามาปรับให้เป็นรายการบันเทิงเพื่อเรียกเสียงหัวเราะของคนดู
เพราะแก่นแท้ของมนุษย์เราไม่ได้มีใครชอบเรื่องเครียดๆ มันคงเป็นอะไรที่ดีกว่าไม่ว่าเรื่องอะไร ถ้าเราสามารถปรับเรื่องนั้นเอามันมาเป็นสิ่งที่สร้างเสียงหัวเราะ และความสุขได้
พี่จิก ประภาส บอกไว้ว่า “ถึงแก่นจะสำคัญเพียงใด แต่กระพี้นี่แหละที่เป็นตัวทำหน้าที่ให้แก่นทำหน้าที่สำเร็จลุล่วงไปได้” แกเปรียบเทียบกับดินสอว่าเป็นครูสอนให้มองเห็น ถึงกระพี้จะเปลี่ยนไปเพียงใด แก่นคือไส้ดินสอไม่เคยเปลี่ยน แต่ถึงแก่น ไส้ดินสอจะสำคัญ แต่ก็ต้องการกระพี้อย่างกบเหลาดินสอด้วย เพื่อให้การเขียนหนังสือลุล่วงไปได้
เมื่อโลกยุคใหม่พฤติกรรมผู้คนเปลี่ยนไป อินเตอร์เน็ตกลายมาเป็นสิ่งที่แย่งความสนใจและเวลาจากหน้าจอโทรทัศน์ การสไลด์หน้าจอมือถือเพื่อดูข่าวสารไปถึงสิ่งบันเทิงมากมายแทนดูรายการจากโทรทัศน์เกิดขึ้นทุกมุมโลก
จึงเป็นความท้าทายเหลือเกินของผู้ผลิตรายการทั้งยุคใหม่และยุคเก่าว่าจะรักษาแก่นที่เสนอให้กับผู้ชมในโลกที่กระพี้เปลี่ยนไปมากได้ขนาดไหน
โกวเล้งนักเขียนนิยายกำลังภายในชื่อดัง เปรียบเปรยชีวิตตัวเองไว้ว่า “ชีวิตเขาเปรียบได้กับเทียบที่จุดไฟจากเทียนสองด้าน (ทั้งด้านหัวและด้านใต้) แน่นอนอายุของเทียนมันย่อมสั้นกว่าเทียนทั่วไปที่จุดด้านเดียว แต่ก็สว่างไสวเป็นสองเท่า”
ถ้าพี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ เปรียบได้กับไม้ขีดไฟ ไม้ขีดไฟของพี่จิก คงเป็นไม้ขีดไฟที่จุดไฟลงบนเทียนไข และไฟจากบนเทียนไขอันนั้นนำไปจุดไฟต่อให้เทียนไข เทียนอื่นๆ ส่งผลให้เทียนสว่างไสวต่อไป แม้ไฟจากบนเทียนไขอันแรกที่ถูกไม้ขีดจุดขึ้นได้ดับลงไปนานแล้ว”
และนี่คือผู้คืออยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเวิร์ดพอย์ท ผู้ชายคนที่มีผลงานเพลง ผลงานเขียน และผลงานรายการโทรทัศน์มากมาย ผู้เป็นนักคิด ผู้เป็นแรงบันดาลใจ ที่จะส่งต่อความคิดที่อยู่เบื้องหลังผลงาน จากรุ่นสู่รุ่นต่อไป
“จุดตัวเองก็ยอมทันใด ให้ลุกเป็นไฟขึ้นมา เพียงปรารถนา ให้มีลำแสงสีทอง จุดตัวเองก็ยอมทันใด ให้ลุกเป็นไฟขึ้นมา เพียงปรารถนา ดอกทานตะวัน หันมอง สักครั้ง เจ้าไม้ขีดไฟก้านน้อยเดียวดาย สาดแสงในใจไม่นาน ดอกเหลืองอำพันจึงหันมามอง และพบเพียงกองเถ้าถ่าน เจ้าไม้ขีดไฟก้านน้อยเดียวดาย เพราะรักจริงใจอย่างนั้น เพียงแค่เธอหัน เพียงแค่เธอมองก็พอ”
แสงจากไม้ขีดไฟดับไปนานแล้ว แต่เสียงเพลงยังลอยวนอยู่ในใจ
***สามารถหาอ่านบทความ ‘เปิดใจ เก็บใจ ตอนฮีโร่ของผมชื่อ ประภาส ชลศรานนท์’ ได้ที่ http://www.facebook.com/latitudethai/