
Credit Mushroom TV
พูดถึงขนมหวาน ที่ทุกคนเคยทาน หนึ่งในนั้นต้องมี “ขนมเค้ก” ที่คุณชอบอย่างแน่นอน วันนี้ผมจะบอกเล่าเรื่องราวของธุรกิจเค้ก แต่ไม่ใช่ขนมเค้กธรรมดา เพราะเป็น “ขนมเค้กร้อยล้าน” อย่าเสียเวลา Leader Wings ภูมิใจนำเสนออีกเช่นเคย ไปติดตามกันได้เลยครับ
จุดเริ่มต้น จากลูกค้าแม่ค้าตลาดนัด
คุณผึ้ง ประภากร ไชยมาตร นักธุรกิจสาวใต้ สุราษฎร์ธานี วัย 26 ปี เจ้าของแบรนด์ Sweet’Soft จุดเริ่มต้นมาจากครอบครัวของคุณผึ้งทำอาชีพค้าขายถุงเท้าอยู่ในตลาดนัดสวนจตุจักร คลุกคลีวิ่งเล่นช่วยพ่อแม่ขายของมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบร่วมกับน้องสาว
หน้าที่หลักสองอย่าง
1.ช่วยขายถุงเท้า ช่วยเรียกลูกค้า “ถุงเท้าไหมคะ คู่ละ 29 บาทค่ะ ถุงเท้าค่ะ”
2.หลับใต้แผงขายถุงเท้าชาร์จแบต กินขนม ง่วงก็นอน
ช่วงหลังเศรษฐกิจตกสะเก็ดค้าขายไม่ดี คนเดินตลาดน้อย หมุนเงินไม่ทัน ไม่คุ้มค่าเช่า ครอบครัวของคุณผึ้งจึงตัดสินใจเก็บของ กลับไปค้าขายผลไม้ที่บ้านเกิดสุราษฎร์ธานี ไม่มีเงินส่งเสียให้เรียนต่อ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณผึ้ง ทนเห็นความลำบากของพ่อแม่ไม่ได้ จึงตัดสินใจดิ้นรนหาเงิน หารายได้เสริมเพื่อแบ่งเบาภาระทางบ้าน โดยการรับงานแสดง งานรำ งานเต้น หลังเลิกเรียน เพราะตัวคุณผึ้งเองเรียนมาทางด้านนาฏศิลป์ เงินที่หามาได้ก็ส่งไปให้ทางบ้าน และใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ต่อมาได้มาเจอแฟนซึ่งทำธุรกิจค้าขายเสื้อผ้าอยู่แล้ว จนรู้ขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ก็เลยไปจ้างโรงงานผลิตให้ แล้วก็เอาไปขาย ปรากฏว่าขายดี ทำเท่าไหร่ก็ขายหมด ทำเสื้อแฟชั่นออกมาก็ขายดีอีก ช่วงนั้นจับเงินวันละ 2-3 แสน ใส่ชุดนักศึกษาถือเงินฝากแบงค์ จนพนักงานธนาคารแซวว่า “น้องขายยาบ้ารึเปล่า”
จากจุดนั้นเอง ทำให้คุณผึ้งลืมตาอ้าปากได้ และตัดสินใจกับแฟนว่า เราสองคนไม่เรียนต่อ และจะออกมาลุยธุรกิจให้สำเร็จ ช่วงนั้นก็ซื้อบ้านเป็นของตัวเอง แล้วก็รถอีก 3 คัน ชีวิตตอนนั้นเหมือนจะประสบความสำเร็จทุกอย่างแล้ว ลูกก็มี แฟนก็มี ธุรกิจก็มี แต่เรื่องที่คุณผึ้งไม่ได้คาดคิดก็เกิดขึ้น…
“ถ้าตั้งใจ ทำอะไรก็สำเร็จ”
ธุรกิจล้มละลาย ขายดีจนเจ๊ง
ด้วยความที่ลุยเดี่ยวทำธุรกิจกับแฟนสองคน ขายดีจนหัวฟู จ้างคนงานเย็บผ้า จ้างโรงงานผลิต ลงผ้าครั้งละสามสี่พันตัว เป็นเงินหลายแสนบาท ประสบการณ์น้อย อายุน้อย ไม่ทันคน ในที่สุดก็โดนโกง โดนหลอก และด้วยความที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านการทำธุรกิจมาก่อน จึงมองข้ามเรื่องการทำ “บัญชี” รายรับ รายจ่าย ต้นทุน กำไร รู้แต่ว่าวันนี้ขายได้เท่าไหร่จบ วันนี้โรงงานให้ลงผ้ากี่แสนจบ
สุดท้าย พอจะจ่ายเงินค่าจ้างเย็บผ้า ค่าผ้าที่สั่งรอบใหม่ ไม่มีเงินจ่าย ตอนนั้นก็พบปัญหาแล้วว่า เราขายดี แต่ทำไม เงินไปไหนหมด จึงได้รู้ความจริงว่า ธุรกิจติดลบ และกำลังจะล้มละลาย ในที่สุดก็เป็นหนี้ค่าผ้าทันที 4 ล้านบาท ในวัย 20 ปี ขาดทุนยับ คุณผึ้งจึงตัดสินใจ แก้ปัญหากับแฟนด้วยการ ขายทิ้งทุกอย่าง ขายบ้าน ขายรถสามคัน ปลดหนี้ให้หมด
“คิดจะทำธุรกิจ ต้องทำบัญชีด้วย”
ตั้งตัวใหม่ด้วยเงิน 2,000 บาท
ความหวังสุดท้าย ตัดสินใจกลับไปหาแม่ บอกแม่ว่า ลำบากมาก ตอนนี้ธุรกิจล้มละลาย ไม่มีเงินซื้อนมให้ลูกค้ากิน คุณผึ้งกับแฟนกินมาม่าทุกวัน เครียดร้องไห้ทุกคืน แม่เดินไปหยิบเงินมาให้ 2,000 บาท และพูดกับคุณผึ้งว่า “แม่ช่วยได้เท่านี้นะลูก” วินาทีนั้น คุณผึ้งกำเงินสองพันบาทในมือแน่น และบอกตัวเองว่า เราต้องลุกขึ้นสู้ให้สำเร็จให้ได้ จะไม่มีวันยอมให้ชีวิตตกต่ำอย่างวันนี้อีกเด็ดขาด สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดของคนเป็นแม่คือ ไม่มีเงินซื้อนมให้ลูกกิน
“ทำธุรกิจ คุณล้มเหลวได้
แต่อย่าล้มเลิก คุณสำเร็จแน่นอน”
ชิมขนมเค้กครั้งแรก ติดใจใช่เลย
มีอยู่วันนึง พี่ที่รู้จักกันซื้อขนมมาฝาก เป็นบลูเบอรี่ชีสพาย คุณผึ้งกัดคำแรก “อร่อย ฟินเลยทีเดียว” ตัดสินใจคุยกับแฟนว่า อยากทำขาย แฟนคุณผึ้งก็หาสูตรจากอินเตอร์เน็ท เอาเงินไปซื้อวัตถุดิบมาทำ ส่วนเครื่องตีไข่ โต๊ะวางขาย ยืมคนรู้จักมาก่อน อะไรยืมได้ยืม
โชคดีการทำบลูเบอรี่ชีสพาย ไม่ต้องใช้เตาอบ ไม่ต้องมีเครื่องมือมากมาย ทำเสร็จแช่ในช่องฟรีซตู้เย็นพร้อมขายทันที เงินสองพันบาท ทำเค้กได้ 5 วง 50 ชิ้น ขายชิ้นละ 50 บาท บังเอิญเพื่อนมาเยี่ยม เลยทดลองให้เพื่อนชิมก่อน เพื่อนบอกอร่อย ไม่เคยกินเค้กอร่อยแบบนี้มาก่อน คุณผึ้งตัดสินใจ ตั้งร้านขายเค้กวันนั้นเลยที่ตลาดนัด ปรากฏว่าภายใน 1 ชั่วโมงขายหมด หักต้นทุนกำไรเหลือ 500 บาท
1 ชั่วโมง กำไร 500 บาท มีความหวังนี่แหละเป็นธุรกิจใหม่ที่ทำให้ตั้งตัวได้ ปลดหนี้ได้ หลังจากทำได้ประมาณ 2 เดือน ลูกค้าขาประจำบอกว่า อยากซื้อกินทุกวัน แต่ขนมเค้กพี่ ราคาสูงไปหน่อย ถ้าพี่ทำเค้กถูกกว่านี้ หนูจะซื้อทุกวันเลย หลังจากนั้นคุณผึ้งตัดสินใจคุยกับแฟนว่า ลองเน้นที่จำนวนการขาย เอากำไรน้อยหน่อย แต่ขายยอดเยอะดีไหม ตัดสินใจปรับราคาใหม่ ลงตลาดนัดขาย ชิ้นละ 35 บาท 3 ชิ้นร้อย ปรากฏว่า พระเจ้าช่วยกล้วยทอด ลูกค้ารุมยังกะแจกฟรี
“ธุรกิจอาหาร สำคัญที่สุด ต้องอร่อย”

Credit Mushroom TV
เกิดแบรนด์ Sweet‘n Soft Cake
เริ่มจากแม่ค้าด้วยกันในตลาด เห็นขายดี อยากรับไปขายบ้าง คุณผึ้งจึงตัดสินใจ ยกพื้นที่ขายในตลาดนัดให้ แล้วคุณผึ้งไปหาที่ขายใหม่ จากจุดนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการทำขายส่ง ทำให้มีตัวแทนขาย เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำไม่ทัน ตัดสินใจหาคนงานเพิ่ม และขยายตัวจนเปิดโรงงานเป็นของตัวเองในปัจจุบัน
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ธุรกิจ Sweet‘n Soft Cake
- ขนมเค้กมีหน้าให้เลือกมากกว่า 40 รสชาติ
- ปัจจุบันมี 300 สาขาทั่วประเทศ
- ยอดขายวันละ 20,000 ชิ้น
- ยอดขายเดือนละ 20 ล้านบาท
- มีพนักงานทั้งหมด 140 คน
- เค้ก 1 ชิ้น มีน้ำตาลเพียง 1 กรัม (สูตรหวานน้อย)
- ใช้วัตถุดิบเกรดเอ เกรดพรีเมี่ยม ขายในราคาตลาดนัด
เงื่อนไขการขายของตัวแทน
- ตัวแทนในกรุงเทพ ขายส่ง ชิ้นละ 28 บาท หน้าพิเศษ ชิ้นละ 30 บาท
- ตัวแทนในกรุงเทพ ต้องขายในราคา 3 ชิ้น 100 บาท
- ตัวแทนต่างจังหวัด ขายส่ง ชิ้นละ 32 บาท หน้าพิเศษ ชิ้นละ 34 บาท
- ตัวแทนต่างจังหวัด ต้องขายในราคาชิ้นละ 40 บาท หน้าพิเศษชิ้นละ 45 บาท
- ตัวแทนทุกเขต ทุกจังหวัด ต้องสั่งสินค้าขั้นต่ำ 200 ชิ้น/รอบ
- ห้ามจำหน่ายเค้กแบรนด์อื่นร่วมกับ Sweet’n Soft Cake
ปัจจุบัน 300 สาขา แบ่งเป็น
- ภาคกลาง 60 %
- ภาคใต้ 20 %
- ภาคเหนือ 10 %
- ภาคอีสาน 10 %
“ดูแลพนักงานให้ดี ใส่ใจเหมือนคนในครอบครัว
เขาจะทำงานให้เราด้วยใจ”

Credit bangkoktoday
Resource
เรียบเรียงโดย…