หลังจากซีรี่ส์วัยรุ่น I HATE YOU, I LOVE YOU ผลงานผู้กำกับฝีมือเยี่ยม ย้ง ทรงยศ สุขมากอนันต์ (ผู้สร้าง/ผู้กำกับซีรี่ส์ “Hormones วัยว้าวุ่น”) ปล่อยตอนแรก EP 1 ออกมา ก็กลายเป็นกระแสพูดถึงอย่างมากในทุกสื่อออนไลน์…
แฮชแท็ก #HateLoveSeries ติดท็อปเทรนด์ ทั้งบน Facebook และ Twitter รวมถึงคำถามที่ว่า #ใครฆ่านานะ
ผู้กำกับทรงยศ ยอมรับกับ Leader Wings ว่า ความรู้สึกแรกคือดีใจ ปลื้มที่คนดูเข้าใจว่าเราต้องการสื่อสารอะไร?
แต่อีกความรู้สึกคือ ยิ่งคนดูชอบ พวกเขาก็ย่อมมีความคาดหวัง เราเองก็จะยิ่งกดดัน ตอนต่อ ๆ ไปต้องไม่ดร็อป ต้องไม่แย่ ทีมงานทุกคนลุ้นกันว่าตอนถัดไปที่เหลือ คนดูจะมีปฏิกิริยายังไง?
ส่วนคำถามที่หลายคนสงสัย #ใครเป็นคนฆ่านานะ เขาหัวเราะก่อนบอกว่า
“ต้องดูให้จบ เพราะมันเป็นเสน่ห์ของซีรี่ส์เรื่องนี้ครับ”
ย้ง ทรงยศ เล่าว่า
“ตอนปล่อยตัวอย่าง คนทั่วไปมองว่าต้องเป็นซีรี่ส์วัยรุ่นแรง ๆ แน่เลย แต่จริง ๆ แล้ว ‘นานะ’ เป็นคนตรง ๆ เป็นคนจริง คิดอะไรก็พูดไปอย่างนั้น
ซึ่งหลายคนอาจมองเป็นข้อดี แต่ก็จะมีอีกจุดที่คนดูจะได้เรียนรู้ว่า คนเราเมื่ออยู่ในจุดสว่างมาก ๆ ความกล้า ความตรงที่มี บางทีก็ต้องระวัง
เพราะ ‘นานะ’ เป็นคนตรงและจริง เรื่องก็พาไปยังจุดสิ้นสุดแบบนั้น แต่ถ้า ‘นานะ’ ไม่ตรงและไม่จริง ก็อาจจะไม่มีจุดสิ้นสุดแบบนั้นก็ได้… คนดูต้องติดตามในตอนต่อ ๆ ไป เพราะสุดท้ายเป้าหมายในเรื่องที่ว่า ‘ใครเป็นคนฆ่านานะ’ มันไม่สำคัญเท่ากับ ‘อะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้ฆ่า’…”
เมื่อเราถามว่า อะไรคือบุคลิกส่วนตัวที่เป็น “แนวคิดสู่ความสำเร็จในอาชีพ” ผู้กำกับทรงยศ บอกกับเราว่า…
1. ไม่ชอบทำอะไรเหมือนเดิม
“ผมไม่คิดว่าเวลาเริ่มต้นทำอะไรครั้งแรก แล้วจะทำได้ดี ทุกวันนี้เวลาได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ก็ยังไม่มั่นใจ เพียงแต่ผมไม่อยากทำสิ่งเดิม ๆ”
หากคุณพอคุ้นเคยกับผลงานของผู้ชายชื่อ “ย้ง” ทรงยศ สุขมากอนันต์ จะทราบว่านิสัยอย่างหนึ่งของเขาคือ ไม่ชอบทำอะไรที่เหมือนเดิม… เขามักรับ “งานใหม่ ๆ” ที่ไม่เคยทำมาก่อนเสมอ…
“ปกติเวลาทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำ ผมก็กลัวนะ แต่จะเติมความมั่นใจเข้าไป ด้วยการทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เต็มที่
ยกตัวอย่าง ตอนทำซีรี่ส์ Coffee Prince หรือตอนเข้าบ้าน AF7 ผมไม่เคยทำ แต่อยากลองทำ พยายามเตรียมตัว ทำการบ้านเยอะ ๆ ซีรี่ส์ Coffee Prince ผลตอบรับอาจไม่ประสบความสำเร็จมาก แต่สิ่งที่ได้คือประสบการณ์”
2. ความผิดพลาดคือประสบการณ์สำคัญ
“ถ้าเราไม่เคยทำ Coffee Prince มาก่อน ตอนทำซีรี่ส์ Hormones จะไม่มีทางได้โปรดักชั่นเนี้ยบ ๆ อย่างที่เห็นในซีซั่น 1 เราใช้ตากล้องเป็น Cinematographer (ผู้กำกับภาพ) ค่าตัวแต่ละคนแพงมาก เราต้องการให้คุณภาพซีรี่ส์ออกมาใกล้เคียงกับหนัง อยากได้ Cinematic (ภาพที่นำเสนอในอารมณ์แบบภาพยนตร์) ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก”
ในตอนนั้นทีมงานทุกคนบอกกับเขาว่า… คุณทำแบบนี้ไม่ได้อะไรหรอก ละครก็จะไม่ดี กำไรก็จะไม่ได้ ซึ่งตอนทำ Coffee Prince เป็นอย่างนั้นจริง ๆ แต่นั่นคือ “ประสบการณ์” ที่เขาได้รับ ซึ่งนำมาปรับใช้กับซีรี่ส์ Hormones รวมถึงซีรี่ส์ I HATE YOU, I LOVE YOU
“โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่า เวลาทำงาน เรามักไม่กล้าก้าวออกจากเซฟโซน แต่มันต้องมีก้าวแรก และไม่มีทางที่ทุกอย่างจะถูกหมดในก้าวแรกได้หรอกครับ”
3. การเปิดใจยอมรับ จะทำให้เกิดการเรียนรู้
คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน ว่านอกจาก “ย้ง” จะเคยกำกับหนัง กำกับซีรี่ส์ เป็นโปรดิวเซอร์ เขายังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำคอนเสิร์ตใหญ่ “Star Theque – GTH 11 ปีแสงคอนเสิร์ต” ร่วมกับ 4NOLOGUE เขาเล่าการทำงานครั้งนั้นว่า…
“จริง ๆ ก่อนหน้านั้น เราก็เคยทำคอนเสิร์ต Hormones Day & Night มาก่อน… ผมมีความคิดอยากเปลี่ยนทัศนคติของคนทั่วไปต่อศิลปินว่า พวกเขาไม่ใช่แค่ดารา เหมือนวันหนึ่งเราเห็นนักแสดงฮอลลีวู้ด ร้องเพลงได้ และร้องได้เพราะด้วย
แม้พวกเขาจะไม่ใช่นักร้องอาชีพก็ตาม เราอยากเห็นน้อง ๆ ในบริษัท นาดาว ทุกคนเป็นแบบนั้น
กระทั่งศิลปินเกาหลี อย่างวง EXO เปิดตัวเพลงแรก ดังมาก ทำไมคนถึงชอบ เพราะพวกเขาเก่ง ร้องเพลงดี เต้นดี ยิ่งถ้าเราลงไปศึกษาน้อง ๆ ที่ชอบศิลปินเกาหลี จะพบว่าพวกเขาไม่ได้ชอบแค่ความหล่อ เขามีสิ่งอื่นที่เหนือกว่าหน้าตา
ศิลปินเกาหลีอยู่มาได้ถึงทุกวันนี้ เขาดังไกลระดับโลก ผมทึ่งมาก ตอนดูคอนเสิร์ต EXO ที่เม็กซิโก คนเม็กซิโกนั่งดูหนุ่มตี๋เกาหลีบนเวที แล้วร้องไห้! มันไม่ธรรมดานะ
ตอนแรก ผมก็มีกำแพงกับศิลปินเกาหลีพอสมควร เพราะผมชอบญี่ปุ่น แล้วรู้สึกว่างานเกาหลีมันประดิษฐ์ แต่หลังจากเปิดใจ ผมได้เห็นอะไรใหม่ ๆ มากขึ้น กว้างขึ้น…
จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเอง ยิ่งพาตัวเองออกจากกรอบเดิม ๆ
เช่น หยุดการทำหนังสักพัก ลองไปเป็นครูบ้าน AF ลองไปทำงานสมาคมผู้กำกับ ลองทำซีรี่ส์ ทั้ง Hormones และ I HATE YOU, I LOVE YOU มันทำให้ผมได้เปิดประตูบานใหม่ ๆ ยิ่งเปิดประตูออกไป ผมก็ยิ่งรู้สึกสนุกขึ้น ตื่นเต้นกับสิ่งท้าทาย… การเปิดใจ…ช่วยเปิดโลกของเราให้กว้างขึ้นมากเลยครับ”
4. นำเสนอในสิ่งที่ตัวเองสนใจ
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวละครหลักในงานของ ทรงยศ สุขมากอนันต์ แทบทุกชิ้น… มักอยู่ใน “วัยรุ่น” ไม่ว่าจะเป็นเด็กชายวัยประถมฯ ในหนัง ”เด็กหอ”
เด็กวัยเรียนตั้งแต่ชั้นประถมฯ จนถึงมหาวิทยาลัย ในหนัง “ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น” เรื่อยมาถึงกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมฯ ปลาย ในซีรี่ส์ Hormones และล่าสุดกับกลุ่มวัยรุ่น ในซีรี่ส์ I HATE YOU, I LOVE YOU
ทั้งหมดล้วนเป็นตัวละครในช่วงวัยที่กำลังจับต้นชนปลายไม่ติดกับชีวิต และกำลังขับเคี่ยวกับขั้นตอนการ “เรียนรู้เพื่อเติบโต” และ “เจ็บเพื่อเข้าใจ”
ผู้กำกับทรงยศยอมรับว่า ตัวละครวัยรุ่นเป็นตัวละครที่เขาสนใจ และที่เขาสนใจก็เพราะสองเหตุผลสำคัญ นั่นคือ
“ผมรู้สึกว่าช่วงวัยรุ่นของผม เจออะไรเยอะมาก เติบโต เรียนรู้ และรู้สึกว่ามีเรื่องที่จะเล่าเยอะ และอีกเหตุผลคือ วัยรุ่นเป็นวัยที่มีเสน่ห์สำหรับผมครับ”
เขามองว่า วัยรุ่นทุกยุคทุกสมัยเหมือนกันหมด สิ่งที่แตกต่างคือยุคสมัยที่เปลี่ยนไป บริบทเปลี่ยน แต่ความเป็นวัยรุ่น ความสับสน ว้าวุ่น การค้นหาอะไรบางอย่าง ความผิดพลาด เรียนรู้ และเติบโต มันเหมือนกัน ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยไหน
“ในวันนี้ ซึ่งผมโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่เวลาผมเห็นเด็กวัยรุ่นสักคน ผมก็ยังรู้สึกว่า ผมอยากจะเข้าใจพวกเขาครับ”
5. สะท้อนภาพสังคม เพื่อกระตุ้นความคิด
จะเห็นได้ว่า ผลงานของ “ย้ง” ทรงยศ แทบทุกเรื่อง จะสะท้อนภาพความสัมพันธ์ระหว่างวัยรุ่นกับผู้ใหญ่
แม้จุดมุ่งหมายจะไม่ได้ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่โต แต่ถ้ามีใครสักคนบอกว่า ซีรี่ส์ของเขาทำให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน นำประเด็นในหนังมาพูดคุยกัน สำหรับเขา นั่นคือความสำเร็จยิ่งใหญ่ในอาชีพ เลยล่ะ!
“ผมเคยเป็นวัยรุ่น ผมเคยรำคาญเวลาผู้ใหญ่มาจู้จี้จุกจิก มาบอกให้ทำโน่นทำนี่ มาตัดสินถูกผิดในสิ่งที่ผมทำ ซึ่งผมไม่อยากฟัง ผมเข้าใจว่าไม่มีใครอยากโดนตัดสิน แต่ขณะเดียวกัน ถ้าไม่อยากให้ใครมาจ้ำจี้จ้ำไช เราก็ต้องรับผิดชอบตัวเองให้เยอะ
อยากไปเที่ยวผับเที่ยวบาร์ เที่ยวได้ ถ้าอายุคุณถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด แต่พอเข้าไปในนั้นแล้ว คุณก็ต้องดูแลตัวเองให้ดี กินเหล้ากินได้ แต่ไม่ใช่กินจนเมาไม่ได้สติ กลับบ้านไม่ไหวไปสลบอยู่ข้างทาง โดนขโมยกระเป๋าสตางค์ เดือดร้อนพ่อแม่ต้องมาเป็นห่วง ต้องมาช่วย แบบนี้ผมว่าไม่ไหว…
วัยรุ่นต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า คุณยังอยู่ในวัยที่ความยับยั้งชั่งใจต่ำ เพราะฉะนั้นคุณควรประเมินตัวเองให้ได้ว่า ควรทำอะไรในระดับไหนที่ยังคุมตัวเอง หรือยังรับมือกับสถานการณ์ได้ ถ้ามีความผิดพลาดใด ๆ เกิดขึ้น
บางคนอาจบอกว่า ความเป็นวัยรุ่นกับการมีสติยับยั้งชั่งใจ ไม่ใช่สิ่งที่จะไปด้วยกันได้ ผมว่าก็ไม่จริงเสียทีเดียว ตอนเป็นวัยรุ่น ผมก็ลองทำอะไรมาเยอะนะ ออกไปเรียนรู้โลก ไปผจญภัย ผมว่า บางทีชีวิตก็จำเป็นต้องเจอเชื้อโรคบ้าง เพื่อให้มันรู้จักสร้างภูมิคุ้มกัน
แต่ไม่ว่าจะทำอะไร ท้ายที่สุดจะไปถึงจุดหนึ่งที่ผมรู้ว่าไปไกลเกินกว่านี้ไม่ได้แล้ว ถ้าไปไกลเกินกว่านี้ ผมจะเอาไม่อยู่ และชีวิตจะพัง ซึ่งนั่นคือจุดที่ผมจะหยุด พูดง่าย ๆ ก็คือ คุณอยากทำอะไร ทำไปเถอะ แต่ต้องทำอย่างมีสติ ซึ่งการมีสติ ไม่ใช่สิ่งที่สอนกันได้ คุณต้องรู้ตัวเอง
แล้วก็จะมีผู้ใหญ่บางประเภท ที่พูดตลอดเวลาว่า ‘เด็กมันคิดเองไม่ได้หรอก’ หรือ ‘คิดเองไม่ได้ทุกคนหรอก’ ใช่ครับ ไม่มีใครเถียง!
แต่วิธีแก้ปัญหาของเราคืออะไร? ถ้าเด็กบางคนคิดไม่ได้ เราควรฝึกให้เขาคิดได้ ไม่ใช่หรือ!? แต่กลับมีผู้ใหญ่บางคนแก้ปัญหาด้วยวิธีการว่า ‘เด็กคิดไม่ได้ งั้นก็ไม่ต้องให้มันคิด’
ยกตัวอย่างในซีรี่ส์ ทั้ง Hormones และ I HATE YOU, I LOVE YOU ยอมรับว่าเนื้อหาบางตอนอาจดูล่อแหลม และต้องการการดูอย่างมีวิจารณญาณ แต่การห้ามฉายไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาในความเห็นผม
การห้ามฉายคือการปิดโอกาสเด็กคนหนึ่งที่จะได้หัดคิด ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรในอนาคต และก็แปลว่า ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กคนนี้ไม่อยู่ในสายตาผู้ใหญ่ เขาย่อมสามารถไปเจอสิ่งเร้า ล่อลวง และผิดพลาดโดยไม่เกิดการเรียนรู้ได้โดยง่ายครับ”