ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ล้วนมีหัวหน้างาน-ลูกน้อง มีผู้บริหาร-พนักงาน แต่ในกลุ่มผู้เป็นหัวหน้า หรือกลุ่มผู้บริหาร กลับมีหลายคนที่กำลังประสบความล้มเหลวในการเป็น “ผู้นำ”
นโปเลียน ฮิลล์ ได้เขียนไว้ในหนังสือ Think & Grow Rich หนังสือแนวพัฒนาตนเองที่ผู้ประสบความสำเร็จทั่วโลกล้วนเคยอ่าน ว่า “ภาวะการเป็นผู้นำ มีด้วยกัน 2 แบบ หนึ่ง ผู้นำที่ได้รับการยินยอมและความเห็นชอบจากผู้ตาม ซึ่งเป็นการนำทีมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด สอง การนำทีมด้วยการสั่งงาน การบังคับ เป็นการนำโดยไม่ได้รับการยินยอมพร้อมใจใด ๆ จากผู้ตาม”
นโปเลียน ฮิลล์ ย้ำว่า
“จากหน้าประวัติศาสตร์ เราจะเห็นชัดว่า ผู้นำที่ใช้การออกคำสั่งบังคับให้ทำตาม จะดำรงอยู่ได้ไม่ยั่งยืน มีบันทึกถึงกลุ่มผู้นำที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต แต่กลับสูญเสียอำนาจลงอย่างรวดเร็ว นั่นหมายความว่า คนส่วนใหญ่จะไม่ยินยอมพร้อมใจเดินตามผู้นำที่นำด้วยการบังคับตลอดไป”
ในฐานะหัวหน้า หรือผู้บริหารองค์กร ย่อมไม่อยากประสบความล้มเหลวในการเป็นผู้นำ… นโปเลียน ฮิลล์ ได้แนะวิธีสังเกต “10 สัญญาณอันตราย” ไว้ดังนี้…
1. ไม่สามารถจัดสรรงานในรายละเอียด
บุคลิกสำคัญของการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ จะต้องเป็นคนละเอียดรอบคอบ มองทะลุทุกปัญหา สามารถจัดการกับรายละเอียดงานต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน
ที่สำคัญ ไม่มีผู้นำคนใดที่จะ “ยุ่งเกิน” จนไม่สามารถตัดสินใจในฐานะผู้นำภารกิจไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำรู้ทุกรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับงาน ย่อมมองออกว่า งานใดควรเร่งทำ งานใดควรลงมือทำเอง และงานใดควรมอบหมายให้ผู้ช่วยที่สามารถรับงานต่อได้
2. ไม่แตะงานเล็ก ๆ น้อย ๆ
ในทุกการทำงานย่อมมีงานใหญ่ งานรอง งานสำคัญ งานเร่งด่วน และงานที่รอก่อนได้ แต่บางครั้ง กับผู้นำบางคน เมื่อเห็นเป็นงานเล็ก ๆ น้อย ๆ แม้จะสามารถช่วยเหลือทีมได้ แต่กลับเพิกเฉย ปล่อยให้ลูกทีมลงมือทำกันเอง
“ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในหมู่พวกท่าน จะเป็นผู้รับใช้ท่าน”
นโปเลียน ฮิลล์ ยกคำกล่าวอ้างอิงมาจาก “พระคัมภีร์ มัทธิว 23 :11” เพื่อชี้ให้เห็นว่า ถึงจะเป็นงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งปกติได้มอบให้ผู้อื่นทำ แต่ถ้าสามารถช่วยแล้วงานเสร็จเร็วขึ้น ผู้นำควรเข้าไปร่วมทำด้วย เพราะสิ่งที่จะได้กลับมา คือผู้นำคนนั้นจะได้รับความร่วมแรงร่วมใจ และการนับถือจากผู้ตาม
3. คาดหวังค่าตอบแทนจาก “สิ่งที่รู้”
ไม่แปลกที่คนเป็นหัวหน้า คนเป็นผู้บริหาร จะมีความรู้ในตำแหน่งหน้าที่เป็นอย่างดี แต่บางคนเมื่อ “รู้” แล้ว คาดหวังผลตอบแทนจากความรู้ที่อยู่ในหัว เรียกร้องรายได้จากวุฒิการศึกษา ทั้งที่โลกแห่งความเป็นจริง ผลตอบแทนจะขึ้นอยู่กับ “การกระทำ”
หัวหน้า หรือผู้บริหารจะเป็นผู้นำที่ดีไม่ได้เลย หากหวังรายได้จากความรู้ที่มี โดยไม่ได้แปรความรู้เหล่านั้นเป็นการกระทำ และในฐานะผู้ตาม ก็จะไม่เข้าใจความรู้ (ที่อยู่ในหัวของพวกเขา) หากไม่ได้เห็นภาพการกระทำที่สามารถเห็นได้ชัด และทำตามได้ทันที
นโปเลียน ฮิลล์ กล่าวว่า
“โลกนี้ไม่จ่ายเงินสำหรับ ‘ความรู้ของใคร’ แต่จะจ่ายให้กับสิ่งที่พวกเขาทำ หรือสิ่งที่โน้มน้าวให้ผู้อื่นทำ”
4. กลัวการแข่งขันจากผู้ตาม
เราสามารถเห็นได้ทั่วไปในสังคม ว่ามีผู้นำที่หวาดกลัวผู้ตามคนใดคนหนึ่งจะมาแย่งตำแหน่ง ยิ่งคุณกลัวมากเท่าไหร่ สิ่งที่กลัวก็จะเป็นจริงเร็วขึ้นเท่านั้น
ผู้นำที่ดีควรสอนงาน มอบหมายงาน ทำทุกวิถีทางให้ผู้ตามรู้ทุกรายละเอียดงานในตำแหน่งของเขาด้วยความเต็มใจ วิธีนี้จะทำให้ผู้นำสามารถปลีกตัวออกจากหน้าที่เดิม มีเวลาพัฒนาตนเอง และก้าวไปสร้างสรรค์สิ่งที่สำคัญยิ่งขึ้นในหน่วยงานของตน
นโปเลียน ฮิลล์ ยืนยันจากการเก็บข้อมูลบุคคลผู้ประสบความสำเร็จนับร้อยคน ว่า…
“การมอบหมายงานให้ผู้อื่น จะทำให้ได้รับผลตอบแทนมากกว่าการพยายามทำทั้งหมดคนเดียว”
5. ขาดจินตนาการ
หากคุณตีความคำว่า “จินตนาการ” เป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน เรื่องเหนือจริง ย่อมไม่เห็นค่า ว่าผู้นำควรจะมีจินตนาการไปเพื่ออะไร?
คำว่า “จินตนาการ” ไม่ได้หมายความเพียงแค่นั้น แต่ยังหมายถึง “การคิดภาพล่วงหน้าถึงสิ่งที่ ‘อาจจะ’ เกิดขึ้น” ผู้นำที่ดีควรต้องคิดภาพคาดการณ์ทั้งด้านดีและด้านร้าย เพื่อเตรียมการรับมือเหตุฉุกเฉิน ทั้งยังต้องคิดแผนสำรองสำหรับให้ผู้ตามไว้ปฏิบัติ มิเช่นนั้น เวลาเกิดเหตุสุดวิสัย เมื่อขาดจินตนาการ ทีมจะเกิดภาวะระส่ำระสาย
6. เห็นแก่ตัว
หัวหน้าหรือผู้บริหารที่ชอบออกหน้า รับเอาความดีความชอบทั้งหมดของผู้ตาม ว่าเป็นผลงานของตน มักจะเผชิญกับความรู้สึกไม่พอใจของผู้ตามอย่างแน่นอน แต่น่าแปลกที่บางทีพวกเขาไม่รู้ตัว และคิดว่าสิ่งที่พนักงานทำ เป็นสิ่งที่เขาทำ!
จากการวิเคราะห์ของนโปเลียน ฮิลล์ ผู้นำที่ยิ่งใหญ่แทบทุกคนจะไม่ขอรับความดีความชอบใด ๆ และยินดีที่จะบอกให้ทุกคนรู้ ว่าความดีความชอบเหล่านั้นเป็นของทีม เพราะผู้นำที่ดีรู้ว่า ผู้ตามส่วนใหญ่จะทำงานหนักขึ้น หากได้รับการยกย่องชมเชย เป็นผลดีมากกว่าแค่ได้ผลตอบแทนเป็นเงินเพียงอย่างเดียว
7. อยากทำอะไรก็ทำ
หัวหน้างานที่มักยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสรรพสิ่ง มักจะเผยท่าทีให้เห็นว่า “อยากทำอะไรก็ทำ” ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่ลูกน้อง/พนักงานต้องรับมือกับการมีหัวหน้างานประเภทนี้ พวกเขาจะรู้สึกเหนื่อยหน่าย แถมยังจะเอาไปนินทาว่าร้ายลับหลัง และแม้จะทำงานให้ตามสั่ง แต่ก็จะคอยระวังตัวตลอดเวลา ว่าคำสั่งนั้นเป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบหรือเปล่า?
นโปเลียน ฮิลล์ กล่าวว่า “ผู้ตามจะไม่ยอมรับนับถือผู้นำที่ไม่ยับยั้งชั่งใจ หรือยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง”
8. ไม่จริงใจ
เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยเจอ คนที่ต่อหน้าอย่าง ลับหลังอย่าง เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกน้อง/พนักงานจับได้ว่าโดนหลอก โดนหักหลัง โดยเฉพาะจากคนที่เป็นหัวหน้า/เป็นผู้บริหาร พวกเขาจะแสดงท่าทีก้าวร้าวต่อต้านขึ้นมาทันที และไม่ว่าต่อไปจะมีงานใดมอบหมายให้ทำ ก็จะทำแบบขอไปที ทำด้วยความระแวงว่าจะโดนอะไรอีก!?
ผู้นำที่ดีจะต้อง ‘จริงใจ’ ทั้งต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อผู้ที่เหนือกว่าและผู้ที่ต่ำกว่า คุณจะไม่สามารถคงความเป็นผู้นำของตนไว้ได้นาน หากไร้ซึ่งความจริงใจ
นโปเลียน ฮิลล์ เปรียบ “ผู้นำที่ไม่จริงใจ” ว่าต่ำกว่าผงธุลีดิน สมควรถูกเหยียดหยาม และความไม่จริงใจต่อกัน คือสาเหตุหลักของความล้มเหลวในทุกด้านของชีวิต
9.บ้าอำนาจ
ผู้นำที่ดีจะนำทีมด้วยการพยายามโน้มน้าวให้เชื่อ ให้คิด และทำตาม ไม่ใช่การทำให้ผู้ตามหวาดกลัว แต่ก็มีผู้นำที่ไม่สามารถทำให้ผู้ตามเชื่อและยินดีทำตามด้วยความเต็มใจได้ จะพยายามทำให้ผู้ตามรู้สึกถึง ‘อำนาจ’ พวกเขาจะเป็นผู้นำประเภทที่จะคอยข่มขู่ บังคับ และออกคำสั่ง
ถ้าคุณจะเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพได้ คุณจะต้องทำให้ผู้ตามยอมรับในความคิด ยอมรับไปถึงบุคลิกที่ไม่เบียดเบียน หรือเอารัดเอาเปรียบ เมื่อผู้ตามยอมรับความคิดและการกระทำของผู้นำ นั่นหมายถึงว่าพวกเขาจะสัมผัสได้ถึงความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ และความยุติธรรมที่ผู้ตามจะได้รับในทุกการปฏิบัติงาน
10. คุยโว อวดตำแหน่ง
เรามักจะเห็นหัวหน้า/ผู้บริหารบางคนชอบออกงาน คุยโวอวดตัวว่าตนมีหน้าที่การงานดี มีตำแหน่งใหญ่โต เพื่อให้คนนับถือใน “ตำแหน่ง” ที่ตนได้รับ
เป็นความจริง ว่าพวกเขาจะได้รับการนับถือจากตำแหน่งที่ได้รับ แต่กลับไม่ได้รับการนับถือจากผู้ตาม ในฐานะผู้นำที่ดี เพราะพวกเขาจะรู้สึกว่าผู้นำของเขากำลังให้ความสำคัญกับตำแหน่งมากเกินพอดี
นโปเลียน ฮิลล์ เขียนแซวคนที่ชอบคุยโวอวดตำแหน่ง ในหนังสือ Think & Grow Rich ว่า…
“พวกเขาเป็นผู้ไม่มีความสำคัญอื่นให้คนทั่วไปเห็น นอกจากตำแหน่งที่ได้มา จึงพยายามวางตัวหรูหรา เจ้ายศเจ้าอย่าง อวดโอ้เพื่อให้คนเห็นความสำคัญ”