“เมื่อย้อนกลับไปนึกถึงสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ ตอนเริ่มทำนิตยสาร Fast Company จะเห็นว่ามีข้อผิดพลาดเต็มไปหมด แน่ล่ะ ช่วงเริ่มต้นธุรกิจย่อมมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นมากมาย และผมยังจำข้อผิดพลาดต่างๆ เหล่านั้นได้เป็นอย่างดี”
ด้วยประสบการณ์กว่า 40 ปี ที่ อลัน เอ็ม. เว็บเบอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสารธุรกิจชื่อดัง Fast Company ได้พบปะและสัมภาษณ์นักธุรกิจชั้นนำหลายร้อยคนทั่วโลก เขาสรุปออกมาเป็น “4 ประโยค” ซึ่งมีประโยชน์ต่อการเขียนแผนธุรกิจ สำหรับผู้เริ่มต้นทำธุรกิจ โดยเขาย้ำว่า…
“ทุกโครงการธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น หรือโครงการเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนภายในบริษัท จำเป็นต้องมีหลัก 4 ประการนี้…
และยิ่งคุณทำตามหลักที่ว่าได้ดีเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น”
1. ต้องเปลี่ยนแปลง
จุดประสงค์ของการเริ่มต้นทำอะไรขึ้นมาสักอย่าง ควรเริ่มด้วย “การเปลี่ยนแปลง” นั่นคือหัวใจสำคัญของ สิ่งที่คุณต้องทำให้ปรากฎ!
สิ่งแรกของผู้เริ่มต้นทำธุรกิจ หรือการปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กร คือคุณต้อง “ชัดเจน” กับสิ่งที่คุณตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงตามหมวดหมู่ที่คุณเลือก ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของผม ในส่วนของนิตยสารธุรกิจ เรารู้แน่ชัดว่าต้องการเปลี่ยนอะไร?
เราต้องการให้นิตยสาร Fast Company ออกมาเป็นนิตยสารธุรกิจในรูปแบบทันสมัยเล่มแรก โดยมีลักษณะผสมผสานระหว่าง Harvard Business Review กับ Rolling Stone การออกแบบนิตยสารธุรกิจของเรา จึงเป็นการประกาศว่า เราอยู่ในกลุ่มนิตยสารประเภทใหม่
ด้วยรูปลักษณ์และความรู้สึกที่ทันสมัย ทำให้นิตยสารของเราต่างจากนิตยสารธุรกิจน่าเบื่อทั้งหลายที่มีอยู่ในท้องตลาด นิตยสาร Fortune, Forbes และ Businessweek แบ่งกลุ่มตลาด โดยใช้ข้อมูลทางสถิติของประชากรแบบดั้งเดิม ส่วน Fast Company เน้นข้อมูลเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของผู้บริโภค
เราต้องการดึงดูดกลุ่มนักธุรกิจที่มองว่าตัวเองเป็นทั้งนักปฏิรูปและนักธุรกิจเป็นทั้งนักพัฒนาและเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่น ขณะที่นิตยสารธุรกิจอื่น ๆ จะเน้นกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็น นักธุรกิจเพศชายชัดเจน ขณะที่เรากลับเล็งเห็นว่า ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในโลกธุรกิจ เราต้องการให้นักธุรกิจทั้งชายและหญิง สนใจนิตยสารฉบับนี้
เราจึงอธิบาย “การเปลี่ยนแปลง” ต่างๆเหล่านี้ไว้ในแผนธุรกิจอย่างชัดเจน เพื่อให้คนที่อยากจะลงทุนกับเราได้เห็นสิ่งที่ Fast Company ต้องการบอก
ดังนั้น สำหรับผู้เริ่มต้นทำธุรกิจใด ๆ ก็ตาม อย่าลืมใส่ข้อมูล “อะไรคือ ‘การเปลี่ยนแปลง’ ที่จะเกิดขึ้น” ลงไปในแผนธุรกิจของคุณ
2. สร้างความสัมพันธ์
นิตยสาร Fast Company สร้างความสัมพันธ์ไว้ 2 ประเภท ซึ่งช่วยเสริมชีวิตชีวาให้กับความรู้ และเพิ่มเติม ประสบการณ์ให้กับผู้อ่าน…
สองสิ่งที่ว่านั้นก็คือ “ความสัมพันธ์ระหว่างความคิดต่างๆ” และ “ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล”
การบ่งบอกว่า นิตยสาร Fast Company มีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใคร เราแสดงให้ผู้อ่านเห็นตั้งแต่แรกถึง “ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่” ของแนวความคิดในโลกธุรกิจ โดยมุ่งไปที่ความสัมพันธ์ ระหว่างยุทธวิธีการรบ กับกลยุทธ์ในการแข่งขันทางธุรกิจ
เราแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักเทคนิคในการตัดสินใจของชนพื้นเมืองอเมริกัน และเชิญชวนให้ผู้อ่านลองนำ ไปปฏิบัติที่ทำงาน…
เราสัมภาษณ์นักเล่นกลชั้นยอด เกี่ยวกับเรื่องความสมดุล ในชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัว…
สัมภาษณ์หมอผ่าตัดสมอง เรื่องศิลปะในการจัดการกับความเครียด…
สัมภาษณ์หัวหน้าทีมสนับสนุนและซ่อมบำรุง เกี่ยวกับกลยุทธ์ในการประสบผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว…
การโยงความสัมพันธ์แบบแหวกแนวในหมวดหมู่ต่าง ๆ มากมายเช่นนี้ ทำให้ผู้อ่านของเราเรียนรู้วิธีคิด เกี่ยวกับงานของพวกเขา ต่างไปจากเดิม!
นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนให้ผู้อ่านสานสัมพันธ์กันเอง โดยใช้เว็บไซต์ของเราเป็นสื่อกลาง เราส่งเสริมให้ผู้อ่าน Fast Company ประกาศตัวว่าพวกเขาอยู่ที่ไหนกันบ้าง? ผลก็คือ เกิดกลุ่มเพื่อนฝูง หรืออีกนัย หนึ่งคือ เกิดเครือข่ายนักธุรกิจซึ่งมีความคิดเหมือนกัน โดยพวกเขาได้นำความคิดกว้าง ๆ จากนิตยสารไปปรับใช้กับบริษัทของตัวเอง
ถ้าคุณจะเริ่มทำธุรกิจใด ๆ ก็ตาม เรื่องของ “ความสัมพันธ์” ระหว่างข้อมูลธุรกิจคุณ ที่ลูกค้าสามารถเชื่อมโยงได้ และ “ความสัมพันธ์” ระหว่างกลุ่มลูกค้าเป้าหมายด้วยกันเอง เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณมองข้ามไม่ได้ โดยเด็ดขาด!
3. กระตุ้นการพูดคุย แสดงความคิดเห็น
นิตยสาร Fast Company ฉบับแรก ลงตีพิมพ์จดหมายจากบรรณาธิการ ซึ่งเราตั้งใจให้เป็นคำประกาศของนิตยสารฉบับใหม่ที่เกิดขึ้น เรากำหนดแนวทางและหลักปฏิบัติของ “คู่มือการปฏิวัติทางธุรกิจ” พร้อมกับนิยามวัตถุประสงค์ของธุรกิจเราว่า…
“ส่งเสริมการพูดคุย อภิปราย โต้แย้ง เร่งเร้าให้เกิดการถกเถียง แสดงความคิดเห็น และสร้างแรงกดดัน ที่เป็นประโยชน์ Fast Company จะเป็นคำแรก และไม่ใช่คำสุดท้าย ที่คนจะนึกถึงในฐานะนิตยสารชั้นนำด้านความคิดทางธุรกิจ”
“หากคุณอ่านนิตยสารของเรา แล้วพบว่ามีบางสิ่งเอาไปใช้กับงานของคุณได้ มีบางสิ่งที่เอาไปพูดกับ เพื่อนร่วมงานได้ มีบางสิ่งที่ช่วยให้คุณมองปัญหาต่างออกไป หรือมีบางสิ่งที่คุณไม่เห็นด้วย นั่นแสดงว่า Fast Company ประสบความสำเร็จ”
แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องงานและ “การพูดคุย” ดังกล่าว มาจากบทความชิ้นสุดท้ายของผม เรื่อง “เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ มีอะไรใหม่นักหนา” ซึ่งผมเขียนให้ Harvard Business Review ก่อนจะลาออกมาทำนิตยสารของตัวเอง
ในบทความดังกล่าว ผมเขียนไว้ว่า “ระบบเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับองค์ความรู้ การยืนจับกลุ่มคุยของเพื่อน ร่วมงาน ไม่ใช่การเสียเวลาแต่อย่างใด มันเป็นส่วนสำคัญของการทำงาน เพราะการพูดคุยกันถือเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่”
นิตยสาร Fast Company ทุกฉบับ ต้องการจุดประกายให้เกิดบทสนทนาใหม่ ๆ ตลอดเวลา…
แล้วธุรกิจใหม่ที่คุณกำลังเริ่มต้นล่ะ ได้กระตุ้นให้ลูกค้าของคุณ อยากคุยอะไรกับคุณ/เกี่ยวกับคุณ หรืออยากแสดงความเห็นต่อสินค้าคุณ หรือไม่!?
4. สะท้อนตัวตนของสังคมใหม่
ตอนเตรียมตัวเพื่อออกนิตยสาร Fast Company ฉบับแรก ผมอ่านเรื่องราวความเป็นมาของนิตยสารรุ่นก่อน ๆ ที่ประสบความสำเร็จมากมาย…
และสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ก็คือ นอกจากนิตยสาร ที่มีลักษณะโดดเด่นจะบ่งบอกความชัดเจนของยุคสมัยแล้ว มันยังทำให้เกิด “การเชื่อมโยงชุมชน” เข้าด้วยกัน
ทศวรรษ 1920 นิตยสาร The New Yorker บ่งบอกถึงประเทศอเมริกากำลังตื่นตัวกับความโก้หรูแบบชาวกรุง ช่วงปลายทศวรรษ 1920 มีนิตยสาร Fortune ออกมาแสดงให้เห็นถึงกลุ่มใหม่ของนักธุรกิจชั้นนำในอเมริกา
ซึ่งกลายมาเป็นรูปแบบบริษัท ทศวรรษ 1950 และ 1960 นิตยสาร Playboy มีอิทธิพลต่อรสนิยมของชายอเมริกัน สะท้อนการปฏิวัติทางเพศที่กระจายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว และในทศวรรษ 1960 และ 1970 นิตยสาร Rolling Stone ก็ขยายภาพให้เห็นชัดว่า ชาวบุปผาชน กำลังหันหน้าเข้าหายาเสพติด เซ็กซ์และดนตรีร็อคแอนด์โรล
นิตยสารแต่ละฉบับที่ประสบความสำเร็จ ล้วนสื่อสารให้กลุ่มคนซึ่งมีความแตกต่างจากคนกลุ่มเดิมที่มีอยู่ ได้ตระหนักว่า…
โดยแท้จริงแล้ว พวกเขาเป็นสมาชิกของ “กลุ่มสังคมใหม่” ที่กำลังเติบโต!
ย้อนมองมาที่ “ธุรกิจใหม่/โครงการใหม่ที่คุณกำลังเริ่มต้น” ได้สะท้อนหรือตอบสนองกลุ่มสังคมใหม่มากน้อยเพียงใด? หากยังไม่มี หรือมีไม่มากพอ ลองเติมแนวคิดนี้ลงไป แล้วธุรกิจ ใหม่/โครงการใหม่ของคุณ ก็จะเติบโตไปพร้อมกับชุมชนใหม่ที่กำลังขยายตัว…
อลัน เอ็ม. เว็บเบอร์ เล่าปิดท้ายว่า
“ผมเรียนรู้หลัก 4 ประการนี้ จากการศึกษาอย่างลึกซึ้ง ว่าเราควรทำอย่างไร ให้ Fast Company เพิ่มโอกาสไปสู่ความสำเร็จ และคุณลักษณะเหล่านี้ ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะสำหรับความสำเร็จของนิตยสาร…
หากมองให้ดี จะเห็นว่าคุณลักษณะ เช่นนี้นำไปใช้ได้กับการเริ่มธุรกิจใหม่ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ในทุกภาคอุตสาหกรรม ถ้าสังเกตนโยบายการรณรงณ์หาเสียงเลือกตั้งของประธานาธิบดีโอบามา จะเห็นว่า มีการนำหลักการต่างๆเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง, ความสัมพันธ์, การพูดคุย และสังคมใหม่ มาใช้ด้วยเช่นกัน”