Enneagram (เอ็นเนียแกรม) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “นพลักษณ์” เป็นภูมิปัญญาโบราณที่ใช้ในการศึกษาบุคลิกลักษณะของแต่ละบุคคล เพื่อช่วยให้เข้าใจตนเองและผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง โดยจะแบ่งออกเป็น 9 ประเภท ได้แก่
1.คนสมบูรณ์แบบ (THE PERFECTIONIST)
บุคลิกคนประเภทนี้ จะเป็นนักปฏิรูป นักต่อสู้เพื่ออุดมคติ ชอบวิพากษ์วิจารณ์ตนเองและผู้อื่น ซื่อสัตย์ มีระเบียบวินัยเคร่งครัด แต่ขณะเดียวกัน ข้อเสียของคนประเภทนี้คือการตัดสินคนอื่น ไม่ยืดหยุ่น ชอบควบคุมสั่งการ ทั้งยังขี้กังวล ชอบโต้เถียง และเอาจริงเอาจังจนเกินไป
2.ผู้ให้ (THE GIVER)
คนประเภทนี้ต้องการความรักและการยอมรับ พยายามทำทุกวิถีทางให้คนอื่นรักและชื่นชม บุคลิกภายนอกของเขาจะดูน่ารัก อบอุ่น ปรับตัวเก่ง กระตือรือร้น เข้าใจความรู้สึกคนอื่น เป็นมิตร แต่ด้วยความที่ไม่กล้า ขี้กลัว อ้อมค้อม เอาใจคนอื่นจนเกินไป แสดงความรู้สึกมากเกินไป บ่อยครั้งจึงกลายเป็นบุคคลผู้เสียสละจนทำให้ตัวเองลำบาก
3.นักแสดง (THE PERFORMER)
บุคคลกลุ่มนี้มักจะสร้างสรรค์ผลงานและความสำเร็จเพื่อให้เป็นที่รัก ชอบแข่งขัน ยึดติดกับการเป็นผู้ชนะ เขาจึงดูเป็นคนบ้างาน ชอบทำงานแข่งกับเวลา คนประเภทนี้มีพลัง มีประสิทธิภาพ ขยัน มุ่งมั่นผลักดันตัวเอง เป็นนักปฏิบัติที่ดี แต่ขณะเดียวกัน เขากลับยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางมากเกินไป หลงตัวเอง เมื่อเกิดอารมณ์ด้านลบ จะเป็นคนผูกใจเจ็บ เจ้าคิดเจ้าแค้น
4.คนโศกซึ้ง (THE TRAGIC ROMANTIC)
บุคคลโศกซึ้งจะมีความคิดสร้างสรรค์ มีไหวพริบ อยากได้ในสิ่งที่ตนไม่มี อยากเป็นในสิ่งที่ตนเองไม่ได้เป็น ขณะเดียวกันก็มีอารมณ์ศิลปิน อ่อนไหวง่าย สนใจความสวยความงามและอารมณ์ลึกซึ้งภายใน หมกมุ่นกับอดีตและความผิดพลาด แต่น่าแปลกที่คนโศกซึ้งกลับเป็นนักแนะนำที่ดี สามารถช่วยเหลือคนอื่นให้ฟันฝ่าความทุกข์ ความเจ็บปวดไปได้
5.นักสังเกตการณ์ (THE OBSERVER)
นักสังเกตการณ์จะมีความเป็นส่วนตัวสูง ไม่ชอบเข้าไปยุ่งเกี่ยวพัวพันกับอะไรเป็นพิเศษ ชอบใช้ชีวิตโดยไม่ต้องการอะไรมาก เพื่อจะได้ไม่ต้องข้องเกี่ยวกับคนอื่น เป็นคนที่รู้สึกหดหู่เมื่อต้องผูกมัดตัวเองกับความต้องการของผู้อื่น คนประเภทนี้ชัดเจนว่าต้องการแยกตัวจากผู้คน จากความรู้สึกของสิ่งต่าง ๆ รอบข้างที่จะมากระทบ นักสังเกตการณ์ที่ดี จะเป็นนักตัดสินใจชั้นเลิศ เป็นนักคิด เข้าใจอะไรได้เร็ว ไว้วางใจได้ สนใจใฝ่รู้ มองอะไรลึกซึ้งกว่าคนประเภทอื่น
6.นักปุจฉา (THE DEVIL’S ADVOCATE)
นักปุจฉา นักตั้งคำถาม เป็นคนช่างสงสัย ขี้กลัว ทุกการกระทำจะเต็มไปด้วยความระแวง จึงมักจะผัดผ่อน ไม่ลงมือสักที เป็นคนชอบคิดมากกว่าทำ นักปุจฉามีสองประเภท ประเภทหนึ่งหวาดกลัว ลังเล ไม่แน่ใจ และยอมจำนนเมื่อจนมุม อีกประเภทจะโต้ตอบความรู้สึกกลัวด้วยการออกไปเผชิญหน้าแบบเสี่ยงเป็นเสี่ยงกัน นักปุจฉาที่ดีจะเป็นสมาชิกในทีมที่ดีเยี่ยม เป็นผู้จงรักภักดี และเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีมาก
7.คนรักสนุก (THE EPICURE)
บุคลิกคนประเภทนี้ให้นึกถึงตัวละคร ‘ปีเตอร์แพน’ คือเป็นคนรักง่ายหน่ายเร็ว ขี้เบื่อ ชอบผจญภัย ต้องการสิ่งดี ๆ ในชีวิต และหลีกเลี่ยงการผูกมัดตนเองกับเรื่องใด หรือบุคคลใด คนรักสนุกจะกระตือรือร้น มีชีวิตชีวา มีจินตนาการ มีเสน่ห์ สนใจใฝ่รู้ ร่าเริง แต่ถ้ามองในด้านลบของคนรักสนุก คือเป็นคนหุนหันพลันแล่น อยู่นิ่งไม่ได้ วอกแวก เชื่อถือไม่ค่อยได้ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
8.เจ้านาย (THE BOSS)
บุคลิก ‘เจ้านาย’ มองออกง่ายมาก เพราะเขาจะมั่นใจในตนเองสูง ตัดสินใจเฉียบขาด ตรงไปตรงมา ซื่อตรง และแม้จะชอบต่อสู้ เจ้ากี้เจ้าการ ต้องการควบคุมสถานการณ์ เอะอะโวยวาย แสดงอำนาจและความโกรธอย่างเปิดเผย แต่คนประเภทเจ้านายกลับเป็นคนที่ปกป้องคนอื่นได้ดี ใจกว้าง กล้าได้กล้าเสีย พร้อมสู้หัวชนฝาเพื่อตนเองและคนที่เขารัก
9.นักไกล่เกลี่ย (THE MEDIATOR)
นักไกล่เกลี่ย หรือผู้ประสานไมตรี จะเป็นคนสองจิตสองใจตลอดเวลา แต่ขณะเดียวกันก็สามารถวิเคราะห์มุมมองต่าง ๆ อย่างรอบด้าน คนประเภทนี้จะให้ความสำคัญกับความต้องการของคนอื่น จนบ่อยครั้งละเลยความปรารถนาของตนเอง วุ่นอยู่กับเรื่องไม่สำคัญ จนลืมเป้าหมายแท้จริงของตน นักไกล่เกลี่ยหรือผู้ประสานไมตรีที่เยี่ยมยอด จะเป็นที่ปรึกษาที่ดี และเป็นนักเจรจาต่อรองที่คล่องตัวสุด ๆ
เมื่อเรารู้จัก “นพลักษณ์” (Enneagram) เริ่มมองออกว่าใครเป็นคนบุคลิกไหน จะสามารถช่วยอะไรในการบริหารองค์กรได้บ้าง?
1.รู้จักตัวเอง
สิ่งสำคัญที่สุดในการบริหารจัดการองค์กร คือผู้นำต้องรู้จักตนเอง มนุษย์ทุกคนมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน แม้เป็นคนลักษณ์เดียวกัน ก็มีความแตกต่างกัน และแม้จะมีพื้นฐานความต้องการเหมือน ๆ กัน แต่การแสดงออกหรือวิธีการทำงานของแต่ละคน ก็อาจแตกต่างกันไปตามแต่พัฒนาการระหว่างการเติบโต
ถ้าผู้นำองค์กรไม่รู้จักตนเองดีพอ ย่อมขาดสติระลึกรู้ในการแสดงออกต่าง ๆ ของตน เราจะถูกผลักดันให้ทำไปตามจิตใต้สำนึก ซึ่งเป็นจุดอ่อนในการจัดการ เราคงเคยเห็นตัวอย่างมากมายในแวดวงธุรกิจ ที่ผู้นำองค์กรเอาแต่จัดการกับคนอื่น ไม่สามารถแม้แต่จะจัดการกับปัญหาของตน หรือจัดการปัญหาภายในครอบครัว
หากผู้นำรู้จักตนเองและฝึกการมีสติอยู่กับตนเอง ย่อมสามารถใช้ศักยภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ลดข้อจำกัดหรือจุดอ่อนของตนลงได้
2.สร้างทีมที่แข็งแกร่ง
การศึกษานพลักษณ์ ‘ร่วมกัน’ ของบุคลากรในทีม นอกจากทำให้ผู้นำรู้จักตนเองได้ดีแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจสมาชิกในทีมลึกซึ้งขึ้น สามารถมองเห็นจุดแข็งจุดอ่อนของผู้ร่วมงาน ซึ่งหลายคนอาจรู้สึกกลัว และพยายามปิดบัง แต่ยิ่งปิดบังซ่อนเร้นก็ยิ่งทำให้เราไม่สามารถร่วมกันแก้ไขจุดอ่อนให้ดีขึ้นได้
ทั้งนี้การทำความรู้จักซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง เบื้องต้นย่อมเกิดผลดีในการสร้างความยอมรับกันและกัน สมาชิกในทีมแต่ละคนจะระมัดระวัง มีสติในการพูดคุยติดต่อกับคนอื่น ขณะเดียวกันก็มีความเอื้ออาทร ความเป็นมิตรอย่างแท้จริง ก็จะเริ่มก่อตัวขึ้นทีละน้อย
3.สื่อสารต่อกันอย่างสร้างสรรค์
เมื่อคนจำนวนมากมาทำงานร่วมกัน ต่างคนต่างสื่อสารกันภายใต้ข้อจำกัดส่วนตัว ยึดมั่นในความคิดของตนเอง ขณะเดียวกันก็คาดหวังและเรียกร้องให้คนอื่นสื่อสารกับเราในแบบที่เราต้องการด้วย!
การศึกษานพลักษณ์จึงช่วยให้เราเข้าใจวิธีการสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น ผู้นำทีมรู้ว่าตนเองมีจุดแข็ง-จุดอ่อนอย่างไร ชอบวิธีการสื่อสารแบบไหน และเพื่อนร่วมทีมมีลักษณะเฉพาะอย่างไร ต้องการให้สื่อสารแบบไหนจึงจะสร้างความเข้าใจต่อกันได้เป็นอย่างดี
ด้วยความรู้เท่าทันนี้ จะทำให้ผู้นำสามารถกำหนดกลวิธีที่เหมาะสมในการสื่อสารระหว่างสมาชิกในทีม และเมื่อเกิดปัญหาขึ้น แม้จะวางกลวิธีไว้ดีแล้ว ก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ ดังนั้น ปัญหาต่าง ๆ อาจจะน้อยลง สามารถหาวิธีคลี่คลายได้ง่ายขึ้น และทันท่วงที
4.สร้างวิสัยทัศน์โดยไร้อคติ
ผู้นำองค์กรที่มีสติรู้เท่าทันตนเอง เข้าใจตนเองในส่วนลึกของกลไกทางจิต จะมีส่วนช่วยให้ผู้นำคนนั้นสร้างสรรค์และพัฒนาวิสัยทัศน์ อันจะสามารถดึงความผูกพันและความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกในองค์กรได้ดียิ่งขึ้น
ผู้นำที่มีอคติน้อยที่สุด จะสามารถกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กรได้บนพื้นฐานของสมาชิกทุกคนได้มากขึ้น การที่เขารู้ว่าคนอื่น ๆ เป็นอย่างไร ต้องการอะไร จะกำหนดทิศทาง เป้าหมาย และวิสัยทัศน์ โดยไม่ถูกบดบังจากอคติส่วนบุคคล
5.จัดการปัญหาความขัดแย้ง
ความต้องการส่วนบุคคล กับเป้าหมายขององค์กร บ่อยครั้งที่บานปลายกลายเป็นความขัดแย้ง หากผู้นำและสมาชิกในองค์กรมีความเข้าใจความยึดติดส่วนตน โลกทัศน์ สิ่งชอบ/ไม่ชอบ อารมณ์ และกลไกการทำงานของจิตใจที่ผลักดันให้แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ก็จะสามารถทำความเข้าใจข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในองค์กรได้อย่างมีสติ และไร้อคติต่อกัน
ในฐานะผู้นำทีม การจัดการข้อขัดแย้งจะง่ายขึ้น เพราะสมาชิกในองค์กรทำความเข้าใจความรู้สึกของตนเองและเพื่อนร่วมงาน แยกแยะออกว่าส่วนใดเป็นอคติของแต่ละคน ส่วนใดเป็นปัญหาจากปัจจัยภายนอก
และจะดียิ่งไปกว่านั้น คือองค์กรสามารถคาดเดาปัญหาขัดแย้ง อันอาจเกิดขึ้นบนพื้นฐาน “ความต่าง” ของคนแต่ละประเภท เมื่อสามารถกำหนดระบบภายในองค์กรลดความขัดแย้ง ต่างคนต่างเสริมแรงกัน สมาชิกทุกคนในองค์กรก็จะทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข
สรุป
เมื่อคุณรู้แล้วว่า Enneagram (เอ็นเนียแกรม) หรือ “นพลักษณ์” เป็นศาสตร์และเครื่องมือที่ดี สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในระดับบุคคล จนถึงระดับองค์กร
ด้วยจุดเด่นของ “นพลักษณ์” ที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึง “ความแตกต่างทางบุคลิกภาพ” ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ ความไม่สบายใจ และสิ่งที่กำหนดพฤติกรรมให้เราแสดงออกต่างกัน แม้จะอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน
การศึกษา “นพลักษณ์” ทำให้เรียนรู้ว่าตัวคุณเอง เพื่อนร่วมงาน และหัวหน้างานของคุณ เป็นคนลักษณ์ใด หลังจากนั้น เราจะสื่อสารต่อกันได้ง่ายขึ้น ไม่มีอคติ ลดความขัดแย้งได้เยอะเลยล่ะครับ