มีเรื่องเล่าขานกันว่า ชื่อบริษัท “แคนนอน” มีที่มาจากคำว่า “เจ้าแม่กวนอิม” ( “คันนอนซามะ” ในภาษาญี่ปุ่น ) เนื่องจากผู้ก่อตั้ง โยชิดะ โกโร่ เลื่อมใสศรัทธาเจ้าแม่กวนอิมอย่างมาก และได้ไปบนบานศาลกล่าวต่อเจ้าแม่กวนอิม “ขอให้ความฝันในการสร้างกล้องถ่ายรูปที่ดีที่สุดในโลก จงปรากฏเป็นจริง”
จะเป็นไปได้หรือ!? คนที่เชื่อถือศรัทธาเจ้าแม่กวนอิม จะหยิบยืม “ชื่อ” มาใช้กับสินค้าที่ตนเองพัฒนาขึ้นโดยพลการ ไม่น่าจะเป็นไปได้!!! เพราะสินค้ามีโอกาสเสียหาย หรือใช้หมดไป หากมีความศรัทธามาก ๆ ก็ยิ่งไม่น่าจะเอามาใช้ประโยชน์สำหรับตัวเองตามอำเภอใจ
แต่ถ้าหากบอกว่า เป็นการขอพรจากเจ้าแม่กวนอิม ว่า “ขอให้ประสบความสำเร็จในการพัฒนากล้องถ่ายรูป” ก็พอจะเข้าใจได้ แต่การจะเอาชื่อ “เจ้าแม่กวนอิม” มาตั้งเป็นชื่อกล้องถ่ายรูป ฟังดูแปลก ๆ จนอดสงสัยไม่ได้…
สืบหาความจริง ที่มาชื่อ “แคนนอน”
ผู้ให้คำตอบต่อข้อสงสัยข้างต้น คือ โกะโต โนริโอะ เจ้าอาวาสแห่งเอนโตกุอิน ในวัดโคไดจิ เมืองเกียวโต ท่านเล่าว่า ชื่อ “แคนนอน” ตั้งโดยพระชั้นผู้ใหญ่ในเมืองเกียวโต นากามุระ ไทยู อดีตเจ้าอาวาสวัดเคนจินจิ อารามพุทธหลวงแห่งรินโซโซ ไดฮอนซัน
แล้วภิกษุอาวุโสที่เกียวโต กับ โยชิดะ โกโร่ ผู้ก่อตั้งบริษัทที่โตเกียว มีความสัมพันธ์กันอย่างไร!?
ท่านเจ้าอาวาสโกะโต ได้ศึกษาประวัติพระผู้ใหญ่ท่านนั้น ทำให้ทราบว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1928 จนถึงปี ค.ศ. 1943 ท่านภิกษุอาวุโสได้เคยมาพำนักอยู่ที่อารามของวัดโคองจิ เขตฮาจิโอยิ ในโตเกียว ตอนคุณโยชิดะพัฒนากล้องถ่ายรูปคันนอน ก็ประมาณปี ค.ศ.1933 จึงน่าจะอยู่ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน
และในหนังสือ “ความเป็นมาของการพัฒนากล้องถ่ายรูปที่ผลิตในประเทศ” โดย โอคุระ อิวาโอะ สำนักพิมพ์ อาซาฮี ได้บันทึกไว้ว่า เจตนาของการตั้งชื่อ “กล้องถ่ายรูปคันนอน” ของท่านภิกษุอาวุโส มีอยู่ว่า…
“เจ้าแม่กวนอิมท่านประทับอยู่ทุกหนทุกแห่งในทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านมีเมตตากรุณาช่วยเหลือมนุษย์ทั้งปวง เมื่อเปรียบกับกล้องถ่ายรูปที่ตัวเองเป็นคนถือ ก็ต้องมีการปรับเลนส์ให้คมชัด บันทึกจุดเด่น ความงาม และลักษณะพิเศษของผู้อื่น พยายามทำตัวเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง โดยเข้าไปอยู่ในใจหรือในจุดยืนของอีกฝ่าย ดุจเดียวกับเจ้าแม่กวนอิม”
ผู้บริหาร เบื้องหลังแคนนอน
“แคนนอน” แต่เดิมคือบริษัท “Seiki Kogaku Kenkyusho” ได้เริ่มต้นธุรกิจที่รปปงงิ กรุงโตเกียว ในปี ค.ศ. 1933 ผู้ก่อตั้งคือ โยชิดะ โกโร่ ซึ่งเป็นนักสะสมกล้องถ่ายรูป
ต่อมาในปี ค.ศ. 1937 ได้ขยายมาเป็น “Seiki Kogaku Company” โดยมีโรงงานเล็ก ๆ ในแถบเมกุโระ กรุงโตเกียว ด้วยเงินลงทุน 1 ล้านเยน และมี อุจิดะ ซาบุโร่ เป็นประธานบริษัท
ในปี ค.ศ. 1942 มิตาไร ทาเกชิ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาและเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนในการพัฒนากล้องถ่ายรูป ได้เข้ามาสืบทอดตำแหน่งประธานบริษัท แล้วกลายมาเป็น “ผู้ก่อตั้งที่แท้จริง” ในฐานะผู้ริเริ่มผลักดันให้กิจกรรมทางธุรกิจดำเนินไปอย่างจริงจัง
ท่านประธานมิตาไร เกิดที่จังหวัดโออิตะ (คิวชิว) จบการศึกษาจากมหาวิทยาอิมพีเรียลฮอกไกโด (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยฮอกไกโด) คณะแพทยศาสตร์ และก่อนที่จะเข้าสู่วงการธุรกิจ ได้ทำหน้าที่แพทย์ประจำอยู่ที่โรงพยาบาล
ท่านประธานมิตาไร ก่อนจะปลดเกษียณไปดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ในปี ค.ศ. 1974 ท่านได้ใช้เวลามากกว่า 30 ปี ผลักดันธุรกิจของ “แคนนอน” จนเติบโต และมีรากฐานที่แข็งแกร่งดังเช่นในปัจจุบัน

HutchRock / Pixabay
DNA ของแคนนอน
ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ “แคนนอน” ได้ให้ความสนใจกับกล้องถ่ายรูปคุณภาพสูงของเยอรมัน ยี่ห้อ “ไลก้า” และมุ่งมั่นพัฒนากล้องถ่ายรูปที่ผลิตในประเทศ ให้มีคุณภาพอยู่ในระดับนั้นให้ได้
และหลังจาก “แคนนอน” ประสบความสำเร็จในการพัฒนากล้องถ่ายรูป บริษัทได้ขยายธุรกิจให้กว้างขวางออกไป โดยมีธุรกิจด้านหนึ่งคือกล้องถ่ายรูป และอีกด้านหนึ่งคือ เครื่องใช้สำนักงาน
ในกลุ่มเครื่องใช้สำนักงาน มีเครื่องถ่ายเอกสารแบบกระดาษธรรมดา ซึ่งตอนนั้น Xerox ของอเมริกาถือสิทธิบัตรอยู่เกือบทั้งหมด ทำให้ผู้ผลิตรายอื่น ๆ ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ แต่ “แคนนอน” สามารถก้าวข้ามอุปสรรคนั้น และพัฒนาเครื่องถ่ายเอกสารของตัวเองขึ้นมาได้
ขณะเดียวกันก็ยังประสบความสำเร็จในธุรกิจวัสดุสิ้นเปลือง จำหน่ายโทนเนอร์ และกระดาษที่ใช้เฉพาะงาน สามารถสร้างฐานการจำหน่าย และเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นบริษัทระดับโลกในที่สุด
“แคนนอน” เริ่มต้นธุรกิจจากโรงงานเล็ก ๆ ในท้องถิ่น ซึ่งจุดเริ่มต้นก็คือ “การผลิตด้วยตนเองอย่างแท้จริง” ดังนั้น แม้จะกลายเป็นบริษัทระดับโลกแล้วก็ตาม แต่ DNA ดังกล่าวของ “แคนนอน” ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง…
นโยบายการบริหาร
– เน้นความสามารถในการปฏิบัติที่แท้จริง
– เน้นความเป็นครอบครัวใหม่
– เน้นสุขภาพต้องมาก่อน
นโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายที่ริเริ่มโดยท่านประธาน มิตาไร ทาเกชิ หลังจากก่อตั้งธุรกิจได้ไม่กี่ปี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นภาพวัฒนธรรมของบริษัท ที่เกิดและเติบโตขึ้นจากโรงงานเล็ก ๆ ในท้องถิ่น อย่างชัดเจน
การเน้น “ความสามารถในการปฏิบัติที่แท้จริง” นั้น เป็นเรื่องที่ทราบดีกันอยู่แล้ว คงไม่ต้องอธิบายอะไร
ส่วนนโยบายที่ว่า “เน้นความเป็นครอบครัวใหม่” ก็ไม่ได้เป็นแค่เพียงสโลแกนเท่านั้น เพราะใน “แคนนอน” มีวัฒนธรรมที่คิดเสมอว่า พนักงานทุกคนเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก
ดังจะเห็นได้จากการที่ “แคนนอน” เป็นหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ที่นำเอาระบบหยุดงานสัปดาห์ละ 2 วัน เข้ามาใช้ในญี่ปุ่น นอกนั้นก็มี “มัตสึชิตะ อิเล็กทริก” เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ใช้ระบบนี้ อีกทั้งยังมีเพลงสำหรับเต้นรำที่เป็นเพลงพื้นเมืองญี่ปุ่น เช่น “เพลงอวยพรวันเกิด”, “เพลงมาร์ชแคนนอน” ที่มักจะใช้ร้องในงานวันเกิดของพนักงานบริษัทอีกด้วย
นอกจากนี้ยังได้แปลงคำว่า “GHQ (General Head Quarters – “กองกำลังพันธมิตรที่ยึดครองญี่ปุ่น”) เป็นคำว่า “Go Home Quickly” – “เสร็จงานเร็ว ๆ แล้วกลับบ้านกันเถอะ” เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความสนิทสนมในแบบครอบครัวเดียวกันได้อย่างชัดเจน
ส่วนคำว่า “เน้นสุขภาพต้องมาก่อน” นั้น มาจากการที่ประธานมิตาไร ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง แต่เดิมท่านเป็นสูตินรีแพทย์ ดังนั้น เวลาพบปะกับพนักงาน จึงมีความอ่อนโยนเหมือนกับเวลาที่แพทย์พบคนไข้ นั่นเอง!
บทสรุป… จิตวิญญาณ “3 Ji”
– Jihatsu (คิดและทำด้วยตัวเอง)
– Jichi (บริหารปกครองด้วยตัวเอง)
– Jikaku (มีจิตสำนึกของตัวเอง)
“จิตวิญญาณ 3 Ji” ซึ่งผู้บริหาร “แคนนอน” ได้ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด แปรค่ามาจากแนวคิดสำคัญที่ว่า
“บริษัทอยู่ได้ด้วยพนักงานแต่ละคน ดังนั้น ความมุ่งมั่นของแต่ละคนจึงเป็นสิ่งสำคัญมากของบริษัท”
และท่านประธานยังได้ฝากปรัชญาเพื่อการเติบโตในฐานะบริษัทระดับโลก ไว้ว่า
“จงอยู่ร่วมกันกับประชากรโลก… ‘แคนนอน’ จะอยู่ร่วมกันกับประชากรโลกทุกเผ่าพันธุ์ โดยไม่เลือกความแตกต่างของเชื้อชาติ ศาสนา หรือวัฒนธรรม และจะยังคงอยู่ตลอดไป”