‘ทีมงานเป็นส่วนผสมของความสำเร็จ’ สมัยผมเป็นพนักงานธรรมดาคนหนึ่ง ผมไม่ได้สนใจอะไรมากนัก มีหน้าที่ทำก็ทำงานไป รับผิดชอบงานตามที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด แต่สิ่งที่ผมสังเกตเห็นก็คือ…
วันที่ทีมของเราขึ้นไปรับถ้วยรางวัลจากประธานกรรมการบริหารของบริษัท วันนั้นผมถึงได้รู้ว่า พลังแห่งทีม พลังของการทำงานเป็นทีม มันมีความสุขแบบนี้นี่เอง และบทความนี้ผมจะบอกคุณว่า หลักคิดอะไรที่ช่วยดึงศักยภาพของทีมให้ประสบความสำเร็จ ที่คุณก็สามารถเลียนแบบได้
1. แสดงความห่วงใย
ทุกเช้าหัวหน้าทีมจะเรียกผมและทุกคนในทีมประชุม Morning Talk ประมาณ 5-10 นาที เพื่อแจ้งข่าวสารใหม่ๆขององค์กร และทักทาย พูดคุยกันพอหอมปากหอมคอ สิ่งที่หัวหน้าทีมทำคือ เขาให้ความสำคัญกับคนในทีมทุกคน เรียกว่า ถ้าคนในทีมเป็นสาวสวย แกจีบติดหมดทุกคน ผมไม่ได้หมายถึงคารม ผมกำลังหมายถึง การให้ความสำคัญกับคนในทีม
คอยถามสารทุกข์สุขดิบ คอยเป็นห่วงเป็นใย ทั้งๆที่เบื้องหน้าคือ เป้า เป้า เป้า ทำยอด ทำยอด ทำยอด ถามว่าเครียดไหม กดดันไหม แน่นอนเพราะคุณทำงาน คุณเป็นพนักงาน เป็นเจ้าของกิจการ เป็นนักธุรกิจ ย่อมมีความเครียดเป็นธรรมดา แต่เมื่อหัวหน้าทีมใช้คำถามที่ดี ก็ทำให้ทีมงานมีพลังใจ มีไฟออกไปลุยงานในทุกวัน
ตัวอย่าง เช่น…
ถ้าเป็นคุณ อยากมีหัวหน้างาน หัวหน้าทีมแบบไหน ระหว่าง…
หัวหน้าทีม 1 : ถามว่า… เฮ้ย! ทำไมช่วงนี้ ยอดตก เป็นไรป่าว ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อนนี่นา ถอดใจแล้วหรอ สู้หน่อยสิ
หัวหน้าทีม 2 : ถามว่า… เป็นยังไงบ้างแจ็ค ทานข้าวเช้ามารึยัง มาๆทานข้าวด้วยกัน ช่วงนี้ทำงานหนักใช่ป่าว ไม่เป็นไรนะ พี่เชื่อว่าเราทำได้ หาเวลาพักผ่อนบ้าง มีอะไรปรึกษาพี่ได้นะ รักษาสุขภาพด้วย เช้านี้เราออกไปลุยงานกัน สู้ๆ
จากตัวอย่างคุณคงเห็นภาพแล้วว่า คำถามเหมือนกัน แต่ถามไม่เหมือนกัน ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว คำพูดดีๆ เพียงหนึ่งคำ เปรียบดั่งน้ำมัน
[pullquote align=”full” cite=”” link=”” color=”” class=”” size=”16″]จุดไฟก็ติด เติมรถก็แล่น[/pullquote]
2. ยินดีรับใช้ เต็มใจให้บริการ
บุคลิกผมเป็นคนสงสัยอะไรถามเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องที่เราไม่รู้ เรื่องที่เราสงสัย ตรงจุดนี้เรียกอีกอย่างว่า แอบใช้หัวหน้าโดยไม่รู้ตัว หลายครั้งเวลาผมออกไปหน้างาน ผมเจอปัญหา ลังเล สงสัย ตัดสินใจไม่ได้ ผมจะโทรถามหัวหน้าทันที และในทุกครั้ง หัวหน้าซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ จะแนะนำผมทุกครั้ง ในทุกสถานการณ์
ไม่เคยบ่น เบื่อ เซ็ง ท้อ ให้ผมได้ยินแม้แต่ครั้งเดียว ตรงกันข้ามกลับทำให้ผมยิ่งต้องทำผลงานให้ดีขึ้น คราวหน้า เมื่อผมเจอสถานการณ์เดิม แทนที่ผมจะโทรถาม ผมสามารถตัดสินใจได้ทันที และนั่นทำให้ผมพัฒนา (Skill) ในการทำงานได้สูงขึ้น ทุกครั้งหัวหน้าจะคอยถามผมเสมอว่า มีอะไรให้ช่วยบอกนะ ติดตรงไหน โทรมาได้เลย ไม่ต้องเกรงใจ เราเป็นทีมเดียวกัน
ด้วยความที่ตอนนั้นผมประสบการณ์ยังน้อย แต่หัวหน้าผมประสบการณ์โชกโชนเชี่ยวชาญช่ำชอง ทำให้ผมต้องเชื่อหัวหน้าทีม โดยไม่มีข้อโต้แย้ง บางครั้งผมอาจจะแย้งบ้างเพราะเราอยู่หน้างาน เราเห็นทุกอย่าง แต่สุดท้ายเมื่อเกิดปัญหาเราก็แก้ปัญหาร่วมกัน ก็ทำให้งานราบรื่นได้ในที่สุด
ตัวอย่าง เช่น…
หัวหน้าทีม 1 : ลูกน้องโทรปรึกษา…. พี่ครับปรึกษาด้วย ผมเจอเคสแบบนี้ เอาไงดีพี่
เฮ้ย! โทษทีนะ พี่ติดประชุม ไม่สะดวก ยังไงก็ตัดสินใจไปก่อนนะ แล้วค่อยว่ากัน มั่นใจหน่อยน้อง
หัวหน้าทีม 2 : ลูกน้องโทรปรึกษา…. พี่ครับปรึกษาด้วย ผมเจอเคสยากพี่ เอาไงดีครับ
ไม่ยากครับน้อง น้องทำแบบนี้นะ Step 1 ตามด้วย Step 2 ถ้าไม่ได้จริงๆ Step 3 โอเคนะครับ
ถ้ามีอะไรส่ง LINE มาหาพี่นะ เดี๋ยวพี่ตอบให้ พอดีพี่มีประชุมครับ
โอเคครับพี่ ขอบคุณมากครับ จบ.
จากตัวอย่างคุณจะเห็นได้ว่า การสร้างพลังใจให้ทีมประสบความสำเร็จ บางครั้งอาจมาจาก การกระทำของหัวหน้าทีมที่เห็นเรื่องเล็กเป็นเรื่องสำคัญ เห็นปัญหาใหญ่เป็นปัญหาที่จัดการได้ง่ายๆ
[pullquote align=”full” cite=”” link=”” color=”” class=”” size=”16″]ใส่ใจสิ่งเล็กๆ = พลังความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่[/pullquote]
3. รักงานที่ทำ ทำงานที่รัก
ช่วงที่ผมเริ่มทำงานใหม่ๆ ผมเห็นรุ่นพี่ เห็นหัวหน้า ทำงานแบบลุยลูกเดียว ธนาคารปิดก็เอางานกลับมาทำที่บ้าน (งานสินเชื่อธนาคาร) ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมเขาถึงทุ่มเทให้กับงานมากขนาดนั้น บางคนถ้าครอบครัวไม่เข้าใจ มีทะเลาะแน่นอน ทำงานทั้งกลางวันกลางคืน ผมว่าอาชีพอย่างเรา อาชีพเซลส์ อาชีพขับรถ อาชีพที่ต้องออกต่างจังหวัด หรือ เข้างานเป็นกะ
คนในครอบครัวต้องเข้าใจกันให้มาก คุณต้องรู้ด้วยว่า คนของเราเป็นคนแบบไหน เพราะถ้าครอบครัวไม่เข้าใจ พลอยจะทำให้พังทั้งงานทั้งครอบครัว กลับมาเรื่องผมต่อดีกว่า ช่วงแรกๆที่ผมทำงาน (ยังอ่อนอยู่) ผมท้อ ผมถอนหายใจทุกวัน บางวันผมแทบไม่อยากไปทำงาน ผมโดนหัวหน้าเรียกคุย โดนรุ่นพี่ดึงสติ แกบอกผมว่า…
“รู้ไหม ทำไมพี่ถึงทำงานทุกวันนี้ นั่งเก้าอี้ตัวนี้ จัดการปัญหามากมายที่เข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน บางวันก็เสี่ยงติดคุก ถ้าเราไม่รู้จักเอาตัวรอด เราก็ตาย แต่สิ่งที่ทำให้พี่ยังอยู่ตรงนี้ ทำงานที่นี่ และพูดให้นายฟังเนี่ย เพราะพี่รู้ไง พี่ทำเพื่อใคร ถึงไม่ได้ทำงานที่รัก แต่เราควรรักทุกงานที่ทำ กลับบ้านไป ทานข้าวกับแม่ กับน้อง กับครอบครัว มันโคตรมีความสุข
สิ่งที่ซื้อไม่ได้ใน 7-11 คือ รอยยิ้มของคนในครอบครัว นายเข้าใจป่ะ ถามว่าท้อไหม เหนื่อยไหม อยากลาออกไหม มันมีหมดทุกคน ไอ้ความรู้สึกนี้ ถ้าวันนี้นายตัวคนเดียว ท้องเดียว ปากเดียว นายลาออกวันนี้เลยก็ได้ แต่ความจริงไม่ใช่ นายมีแม่ มีครอบครัว มีคนรอนายอยู่ที่บ้าน ถ้าสมองสั่งให้ท้อ เหนื่อย อยากลาออก ถึงเวลาที่นายต้องใช้ใจนำทางบ้างแล้วล่ะ
พี่พูดแค่นี้นายคงเข้าใจนะ แยกย้ายไปทำงานได้แล้ว ลุย !! สู้ๆไอ้น้อง” จากประโยคข้างบน ช่วยทำให้ผมดึงสติกลับมา และทำให้ผมคิดได้ว่า ถ้าคิดแต่จะลาออก หางานใหม่ ในไม่ช้า ผมจะวนกลับมาวงจรเดิม คือ “วงจร(อุบาทว์)ลาออก”
“สมอง ” วิ่งหนีความเจ็บปวด ค้นหาความ “สบาย”
“ใจ” วิ่งชนความท้าทาย ค้นหาความ “สำเร็จ”
4. ทำให้ได้เกินความคาดหวัง
บ่อยครั้งในการทำงาน หัวหน้าทีมจะบอกทีมงานทุกคนเสมอว่า “ขอให้ทุกคนทำให้เต็มที่” พร้อมแจ้งยอด แจ้งระยะเวลาที่เหลือเป็นระยะ หัวหน้าทีมผมแปลกอย่างหนึ่งคือ ไม่เคยกดดัน ไม่เคยดุด่าว่าผมและคนในทีมเลย (จากประสบการณ์ที่มีหัวหน้าหลายคน) แต่ผมมักจะทำงานถวายหัว ลุยลูกเดียว ไม่หลับไม่นอน
เคยทำงานจนถึง 6 โมงเช้าอีกวัน (ไม่รู้ผมทำได้ไง) นอน 2 ชั่วโมง แล้วตื่นไปทำงานต่อตอน 9 โมงเช้า ลูกค้าเดินเข้ามาธนาคาร “สวัสดีครับ ยินดีให้บริการครับ” (ชีวิตยังกับฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักสาวแบงค์) ผมไม่รู้ว่า ตอนนั้นผมทำงานเกินความคาดหวังหัวหน้าหรือไม่
มองมุมกลับ ผมอาจบริหารเวลาไม่ดีก็เป็นได้ เพราะช่วงนั้นผมรับมือกับงานหินไม่ไหว พาลทำให้นอนดึก นอนเช้า ต้องเคลียร์งานให้จบภายในเดือนให้ได้ วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ผมปรึกษาหัวหน้าเป็นเคสบายเคส คิดคนเดียว เดี๋ยวจะเครียดคิดไม่ออก ปรึกษาหัวหน้าทีมดีกว่า คือ ทางออกที่ดีที่สุด
ทำงานเกินความคาดหวังลูกค้า คือ ลูกค้าเสนอมา เราตอบโจทย์มากกว่าที่ลูกค้าต้องการ
ทำงานเกินความคาดหวังหัวหน้า คือ หัวหน้าวางเป้าเท่านี้ เราทำให้ได้มากกว่าที่เป้ากำหนด
ทำงานเกินความคาดหวังลูกน้อง คือ ลูกน้องคิดว่า หัวหน้าสั่งอย่างเดียว แต่หัวหน้าลงไปลุยกับลูกน้องด้วย
ทั้งสามแบบ ถ้าคุณทำได้ นอกจากคุณจะได้งานแล้ว คุณยังได้ใจลูกค้า หัวหน้า ลูกน้องไปด้วยในคราวเดียวกัน
ความสำเร็จของทีม คือ
[pullquote align=”full” cite=”” link=”” color=”” class=”” size=”16″]ทำให้ได้เกินความคาดหวังของลูกค้าเสมอ[/pullquote]
5. แบ่งปันประสบการณ์ของคุณ
ไม่มีตำราเล่มไหนในโลก สอนคุณได้ดีเท่ากับ ตำราที่ชื่อว่า “ประสบการณ์ชีวิตของตัวคุณเอง” ความรู้บางอย่าง ไม่มีในตำรา ความรู้ในตำราบางครั้ง ไม่ได้ครอบคลุมทุกอย่างของการทำงาน ถ้าอ่านตำราเพียงเล่มเดียวแล้วคุณรู้ทุกอย่าง โลกนี้จะไม่รู้จักคำว่า “ประสบการณ์ชีวิต” อีกเลย แล้วคุณจะพิสูจน์สิ่งที่ตำราสอนได้อย่างไรว่า จริงหรือไม่
เพราะฉะนั้นทางเดียวที่คุณจะรู้คำตอบได้ดีที่สุดคือ ออกไปหาประสบการณ์ชีวิต ในช่วงชีวิตของการทำงาน ผมแอบอิจฉา หัวหน้าทีมที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ทำไมเขาเก่ง ทำไมเขาได้เป็นหัวหน้าทีม ทำไมทำงานสบายจัง นั่งโต๊ะรับโทรศัพท์ ไม่เห็นออกไปหาลูกค้า ตากแดดตากลมแบบเราเลย ทำไม ทำไม และทำไม ผมเฝ้าบ่น เฝ้าถามคำถาม ที่ไม่มีคำตอบในตอนนั้น
แต่หลังจากที่ผมร่วมงานกับหัวหน้าทีมเป็นระยะเวลา 2 ปี ผมได้คำตอบกับตัวเองว่า เพราะเขาผ่านประสบการณ์เหล่านั้นมาก่อน วันนี้เขาถึงเป็นหัวหน้าทีมเราได้ ผมจำไม่ได้ว่า ถามคำถามเรื่องงานกับหัวหน้าทีมไปกี่คำถาม
ถ้านับจริงๆ น่าจะไม่ต่ำกว่า 500 คำถาม แต่หัวหน้าสามารถตอบได้หมด ทำให้ผมเคารพและศรัทธาในตัวหัวหน้าทีมมากขึ้นไปอีก เชื่อได้เลยว่า ไม่มีตำราเล่มไหนเขียนให้อ่านด้วย แม้กระทั่งในปัจจุบัน เพราะมันเป็นประสบการณ์ชีวิต
ผมกำลังจะบอกคุณก็คือ หาเวลาแบ่งปันประสบการณ์ของคุณให้ลูกน้องในทีมฟังบ้าง ช่วงเวลาหลังเลิกงาน เวลาทานข้าว เวลาดื่มเบียร์คนละกระป๋อง พวกเขาจะได้เข้าใจคุณมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เอาแต่ทำงาน สั่งอย่างเดียว เลิกงานปุ๊บ กลับปั๊บ อันนี้ก็ไม่ไหว ช่วงเวลาที่คุณแบ่งปันประสบการณ์ จะทำให้ความสัมพันธ์ในทีมแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เล่าเรื่องแผนงานในอนาคต เรื่องตลก เรื่องที่คุณภาคภูมิใจ เรื่องส่วนตัว เรื่องครอบครัวก็ดี เมื่อคุณเปิดใจ ลูกน้องจะเปิดใจให้คุณเช่นเดียวกัน
และนั่นถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่จะทำให้ทีมคุณประสบความสำเร็จได้ในอนาคต การเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิต ของคนอื่นและตัวคุณเอง
บทความโดย…
พงศธร พูลเพิ่ม (ป๊อป)
LeaderWings.Co