“ไม่ว่าอยากทำอะไร ก็ทำได้ทั้งนั้นแหละ ถ้าเรามุ่งมั่นตั้งใจกับมันมากพอ”
เฮเลน เคลเลอร์ นักเขียนอเมริกันผู้พิการซ้ำซ้อน (หูหนวกและตาบอด) กล่าว
แต่คุณรู้สึกไหม? ทุกครั้งที่เราตั้งใจเด็ดเดี่ยว กำหนดเป้าหมายชีวิตอย่างชัดเจน จะมี “3 สิ่ง” โผล่ขึ้นมา ฉุดรั้งให้เราพลาดท่าหลงทาง!!!
แจ็ค แคนฟิลด์ ผู้เขียนหนังสือ The Success Principles และ Chicken Soup for the Soul เรียกมันว่า “สามวายร้าย” แต่คุณไม่ต้องไปกลัวพวกมันหรอกนะ เพียงแค่ทำความรู้จักเจ้าสามวายร้ายนี้ เตรียมพร้อมรับมือทุกครั้งที่มันปรากฏตัว เพียงแค่นี้เราก็จะไม่พลัดหลงจากเส้นทางแห่งความสำเร็จไปได้
เจ้าสามวายร้าย หรืออุปสรรคขัดขวางความสำเร็จทั้งสาม ได้แก่
- ความวิตกกังวล
- ความหวาดกลัว
- อุปสรรคกีดขวาง
คนส่วนใหญ่คาดหวังว่าทุกการกระทำจะปลอดโปร่งโล่งสบาย แต่ชีวิตจริงหาได้เป็นเช่นนั้น ระหว่างทางจะมีสารพัดอุปสรรค คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต คือคนที่สามารถก้าวข้ามเจ้าวายร้ายเหล่านั้น และคนที่ประสบความสำเร็จ ก็จะมองเป้าหมายเป็นเรื่องท้าทาย
พวกเขารู้ดีว่า ทุกเป้าหมายล้วนมีอุปสรรค ชีวิตมักเป็นเช่นนี้!
แจ็ค แคนฟิลด์ย้ำว่า…
“ไม่ต้องตกใจ หรือท้อใจ เวลาเดินสะดุดนิด ๆ หน่อย ๆ ในช่วงระหว่างทางสู่ความสำเร็จ มันเป็นเพียงบททดสอบ เพื่อให้แน่ใจว่า คุณอยากได้สิ่งนั้นมากขนาดไหน”
1. ความวิตกกังวล
ถ้าเป็นช่วงวัยเรียน คุณย่อมอยากได้คะแนนดี ๆ ได้เกรดเอทุกวิชา และในช่วงเวลานั้น คุณจะเริ่มคิดว่า
“ฉันต้องเรียนหนักเป็นสองเท่า”
“ฉันจะไม่มีเวลาไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนเหมือนเมื่อก่อน”
“ถ้าทุ่มเทเวลาให้แล้วยังไม่ได้เกรดเอล่ะ?”
ทั้งหมดนี้คือ… ความวิตกกังวล
คุณเริ่มมองออกแล้วใช่ไหมว่า ทำไมหลายคนถึงชอบหาข้ออ้างไม่ทำโน่น ไม่ทำนี่… พวกเขาไม่ได้ไร้ความสามารถ
พวกเขาแค่ได้ยินคำพูดด้านลบติดต่อกัน ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า จนกลายเป็นการล้างสมองตัวเอง เราทุกคนล้วน“วิตกคิดมาก” ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ไม่มีใครมั่นใจเต็มร้อยได้ตลอดเวลาหรอก
แจ็ค แคนฟิลด์แนะนำว่า…
“ไม่ควรปล่อยให้ ‘ภาวะวิตกคิดมาก’ ฉุดรั้งให้เราไม่ทำอะไรเลย แต่ควรมองเป็นเครื่องมือช่วยให้เราเตรียมพร้อมรับมืออุปสรรคที่อาจรออยู่ข้างหน้า ความวิตกคิดมากมีประโยชน์ ถ้าคุณสามารถเผชิญหน้ากับมัน แล้วก้าวต่อไป เพราะในท้ายที่สุดคุณจะพบว่า สิ่งที่วิตก-หมกมุ่น-ครุ่นคิด ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความจริงแต่อย่างใด”

PublicDomainPictures / Pixabay
2. ความหวาดกลัว
ถึงคุณจะมีความกล้ามากขนาดไหน แต่เราทุกคนล้วนมีความหวาดกลัวซุกซ่อนอยู่ภายในด้วยกันทั้งสิ้น เพราะภาวะหวาดกลัวคืออารมณ์ที่ทุกคนเคยสัมผัส อาจจะเคยถูกปฏิเสธ เคยล้มเหลว เคยอับอายขายหน้า หรือเคยเจ็บปวดทางร่างกาย เหล่านี้ส่งผลให้เรารู้สึกหวาดกลัวว่าจะเจอแบบนั้นอีก
“สิ่งที่ควรระลึกไว้เสมอคือ ความหวาดกลัวเป็นเพียงห้วงอารมณ์หนึ่งของชีวิต”
แจ็ค แคนฟิลด์ อธิบายเพิ่มเติมว่า…
“ก็แค่ปล่อยความหวาดกลัวเป็นตัวชี้นำให้เราระมัดระวังสิ่งแปลกปลอม แต่อย่าให้มันเข้ามาบงการชีวิตทั้งหมดของเรา…
คนประสบความสำเร็จไม่ใช่คนที่กำจัดความกลัวทิ้งไปจนหมด แต่พวกเขาจะเรียนรู้ที่จะรับเอาบางอย่างจากความรู้สึกหวาดกลัวเหล่านั้นมาปรับใช้ ”
ความรู้สึกหวาดกลัวคือการพุ่งเป้าไปยังสิ่งที่คุณไม่อยากให้เกิด ฉะนั้น ลองยับยั้งตัวเองและคิดในมุมกลับดูว่า คุณอยากให้สิ่งต่าง ๆ เป็นไปอย่างไร?
นึกภาพในใจว่าทุกสิ่งเป็นไปอย่างใจต้องการ เห็นมัน รู้สึกถึงมัน และเชื่อมัน ถ้าทำแบบนี้ได้บ่อยครั้ง คุณจะสร้างความมั่นใจไว้เผชิญหน้ากับความหวาดกลัว ทั้งยังสามารถก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างกล้าหาญ

RyanMcGuire / Pixabay
3. อุปสรรคกีดขวาง
เราทุกคนล้วนต้องเจอกับอุปสรรคกีดขวางที่โลกส่งมาทดสอบความตั้งใจ เป็นเหตุการณ์ภายนอกที่มักอยู่นอกเหนือการควบคุม และมีเพียงคุณเท่านั้นที่รับมือกับมัน!
แจ็ค แคนฟิลด์ บอกว่า “สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับอุปสรรคกีดขวาง คือความไม่จีรังยั่งยืน พวกมันอยู่ได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น ถ้าคุณเอาจริงเอาจังมากพอ คุณย่อมหาทางจัดการพวกมันให้พ้นเส้นทางได้”
ในบางครั้ง อุปสรรคกีดขวางจะถาโถมมาในหลากรูปแบบ ฝนอาจตกวันที่คุณตั้งใจไปเที่ยวทะเล, เจอเพื่อนบ้านน่ารำคาญ, ที่ทำงานใหม่ไม่เป็นอย่างที่คิด, คุณทำไม่ได้อย่างที่หัวหน้าต้องการ, ผู้บังคับบัญชาไม่สนับสนุนแนวคิดที่คุณเสนอไป ฯลฯ
อุปสรรคเหล่านี้เป็นแค่เหตุการณ์ในโลกความจริงที่คุณต้องรับมือกับมัน เพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า…
หลายอย่างอาจเหนือการควบคุม แต่ไม่ใช่ทางตันไร้ทางแก้ เว้นเสียแต่คุณเลือกที่จะ “ยอมแพ้”

domeckopol / Pixabay
เวลาที่คนส่วนใหญ่เจอ “เจ้าสามวายร้าย” ขัดขวางความสำเร็จ (ความวิตกคิดมาก, ความหวาดกลัว, อุปสรรคกีดขวาง) พวกเขาจะมองเห็นมันเป็น “ป้ายสั่งให้หยุด” แต่ในความเป็นจริง พวกมันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของบททดสอบ เพื่อให้เราก้าวข้ามไป
แจ็ค แคนฟิลด์ สรุปได้น่าฟังว่า…
“ถ้าเส้นทางชีวิตของคุณไม่เจอพวกมันเหล่านี้ นั่นอาจเป็นไปได้ว่า คุณยังตั้งเป้าหมายชีวิตไม่ชัดเจน หรือไม่ใหญ่พอที่จะยืดขยายตัวเอง เพื่อเติบโตเป็นบุคคลผู้ประสบความสำเร็จ”