ธรรมชาติของกระแสน้ำ ย่อมไหลแปรเปลี่ยนไปมา ไม่วันสิ้นสุด
เมื่อสิ่งเก่าไป สิ่งใหม่ก็มา สิ่งเก่าถูกแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ไปอย่างนี้ ไม่มีวันสิ้นสุด
จากครั้งเคยรุ่งเรือง ก็ย่อมมีวันโรยรา
ยิ่งด้วยเมื่อสังคมย่างเข้าสู่วัยชรา แปลไทยเป็นไทยเข้าใจง่าย ๆ คือ สังคมที่ผู้สูงวัยเกษียณและใกล้เกษียณ เริ่มมีมากขึ้นกว่าคนหนุ่มสาวในวัยทำงาน ผู้ซึ่งจะเป็นทั้งผู้สร้าง ผู้ผลิตและบริโภคเพื่อสร้างเศรษฐกิจของประเทศ
สิ่งที่ประเทศที่ประชากรเข้าสู่วัยชราต้องเผชิญคือ จากที่เคยผลิตสินค้าอะไรออกมาแค่ขายให้คนภายในประเทศก็สามารถสร้างผลกำไรหรือการเติบโตได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงกำลังซื้อจากต่างประเทศ เพราะมีประชากรที่เติบโตขึ้นมา
รองรับ
แต่เมื่อสังคมเข้าสู่วัยชรา ประชากรในประเทศเริ่มลดลง มันหมายถึงกำลังซื้อที่ลดลงและลดน้อยถอยไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่สามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้
ครั้นจะไปแย่งกำลังซื้อจากนอกประเทศ ในเขตมหาสมุทรปัจจุบันนี้ก็ไม่ง่ายเหมือนเดิม และนี่คือสิ่งที่รัฐนาวาที่ชื่อว่า ‘ประเทศญี่ปุ่น’ กำลังเผชิญ
จากดินแดนอาทิตย์อุทัย ที่ภายใต้ท้องฟ้าประเทศแห่งนี้ ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้
จากผู้นำการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงรถยนต์ โดยมีไทยเป็นฐานการผลิต ความสามารถการขายสินค้าของบริษัทญี่ปุ่นในเวทีโลกไม่ใช่แค่สร้างความรุ่งเรืองเฉพาะแดนอาทิตย์อุทัย แต่ยังส่งผลให้ไทยที่ถูกใช้เป็นฐานการผลิต เติบโตขึ้นไปด้วย ยืนยันได้จากตัวเลข GDP ในอดีต
แต่เมื่อนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์กำลังจะนำโลก
การทำงานในโรงจอดรถที่บ้าน กำลังชนะการตรอกบัตรเข้าที่ออฟฟิศในเวลาเช้า และทำงานจนหลังคดหลังแข็งจนมืดค่ำ
ความกล้าขบถ กลายเป็นนวัตกรรม
ขนบธรรมเนียมที่ชาวญี่ปุ่นไม่กล้าแหวกทำเนียมปฏิบัติเลยกลายเป็นกำแพงใหญ่ขวางกั้นความคิดใหม่ ๆ ซึ่งส่งผลตามมาของการคิดผลิตภัณฑ์ออกสู้ทันในตลาดโลก
ภาพสินค้ามือถือจากซีอีโอใส่กางเกงยีนส์ที่ต่อสู้กับสินค้าสัญชาติเกาหลีอย่าง Samsung อย่างสนุกโดยคนแทบจะลืมว่าสินค้าอย่าง Sony เคยสยายปีกอยู่ในตลาดโลก
ไหนจะพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านจาก Samsung หรือ LG เริ่มถูกผู้คนนำเอาวางในบ้านแทนสินค้าจาก Mitsubishi Toshiba และ Sony
อย่าว่าแต่สินค้า แค่อุตสาหกรรมเพลงหนังละครที่ญี่ปุ่นเคยยึดหัวหาดบ้านเราเมื่อครั้งอดีต ยังถูกยึดหัวหาดจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลี (บางคนอาจบอกว่า หนัง AV ยังยึดอยู่นะ 55)
ไม่รวมสินค้าราคาถูกจากจีนที่ตอนหลังพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ และดูจะพร้อมแล้ว สู่การออกสู่เวทีโลก
ที่ยืนของสินค้าญี่ปุ่นในเวทีโลกจึงหดแคบขึ้นทุกที ถึงจะมีสินค้าราคาประหยัดอย่าง ‘ยูนิโคล่ ’ ผงาดในเวทีโลก และยังมีอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ยังยืนแข็งแกร่งในเวทีโลกตอนนี้
แต่ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นนั้นได้หรือไม่ เมื่อผู้ผลิตรถเจ้าใหม่จากฝั่งอเมริกาที่ชื่อว่า ‘เทสล่า’ ดูจะเป็นอุปสรรคใหญ่ขวางหน้าเหลือเกิน
และนี่จึงเป็นเหตุผลที่มาของนายกคนปัจจุบันของญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ นำ “อะเบะโนมิกส์” (Abenomics คือ คำผสมระหว่าง Abe กับ Economics)
หรือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางการคลังและทางการเงินออกมาอย่างหนักหน่วงหรือเรียกกันเข้าใจง่าย ๆ ว่า ‘ยาแรง’
ไม่ว่าจะเรื่องที่ทำเรื่อง QE จนค่าเงินเยนอ่อนเทียบบาท อ่อนเป็นประวัติการณ์ในช่วงที่มา หรือแม้แต่นโยบายตั้งดอกเบี้ยติดลบที่หลายคนเข้าใจผิดว่า ถ้าต้องไปฝากเงินกับธนาคารจะเสียดอกเบี้ยเงินฝาก
ทั้งที่เป็นแค่มาตรการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นใช้กับธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นเพื่อเพิ่มสภาพคล่องกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้และนำเงินไปลงทุนเพิ่มขึ้น
ไหนจะนโยบายที่ยกเลิกวีซ่าคนไทย ที่ทำให้ชนชั้นกลางไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นจนมีผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ยังไม่นับที่ตอนนี้ญี่ปุ่นพยายามส่งออกผลิตภัณฑ์รถไฟฟ้าความไว้สูงให้กับประเทศกำลังพัฒนา
แต่ทั้งมวลนี้ดูจะเป็นนโยบายที่กระตุ้นเศรษฐกิจออกมาช่วงสั้น ๆ เพราะความจริงโจทย์ที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญ
แต่ดูเหมือน “อะเบะโนมิกส์ ” ยังไม่ได้ตอบให้ชัด คือ นโยบายเหล่านี้จะแก้ปัญหาโครงสร้างประชากรเข้าสู่วัยชราอย่างไร
และจะช่วยการแข่งขันสินค้าญี่ปุ่นในเวทีโลกเช่นไร ในวันที่คลื่นลมพายุในมหาสมุทรปะทุรุนแรงขึ้นทุกที
ภาพวาด “คลื่นยักษ์นอกฝั่งคะนะงะวะ” ของศิลปินคนดังชาวญี่ปุ่น คะสึชิกะ โฮะกุไซ
ที่เป็นรูปคลื่นยักษ์ที่กำลังเขม่นเกลียวใส่เรือ 3 ลำ โดยมีฉากหลังเป็นภูเขาไฟฟูจิ ที่ถูกยกย่องว่ามีชื่อเสียงที่สุดของศิลปิน จึงสะท้อนภาวะคลื่นลมทางเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่น จะต้องเผชิญทั้งต่อไปนี้และในอนาคตได้ดี
และเป็นสิ่งที่ประเทศที่อยู่ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ชื่อว่า ‘ประเทศไทย ’ ควรจับตา และศึกษาเรียนรู้ไว้รับมือเพื่อนำมาประยุกต์ปรับปรุงแก้ไข ในวันที่คลื่นลมพายุในแบบเดียวกัน
ซัดเข้าหาชายฝั่งทะเลอันดามัน
***เขียนบทความนี้ครั้งแรก 5 เมษายน 2559