เขาว่ากันว่าคลื่นลมในมหาสมุทร
คลื่นที่ทำให้เรือล่มจมถึงกับอับปาง คือคลื่นลมเดียวกับที่ดันตัวเรือขึ้นไปสูง ก่อนพาตกลงมาอย่างไม่ทันตั้งตัว ต่อให้กัปตันเรือหลังพวงมาลัยชำนาญการ คล่องโลกแค่ไหน หรือตัวเรือได้ชื่อว่าใหญ่ แข็งแกร่งแค่ไหน ก็มีโอกาสย่อยยับอับปางในชั่วพริบตา
ยิ่ง ‘กระแสน้ำ’ เปรียบดัง ‘กระแสเงิน’ ด้วยแล้ว
กระแสเงินที่เคยบ้าคลั่ง ไหลผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองประเทศหนึ่ง ย่อมสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศนั้นอย่างมาก แต่เวลาไหลย้อนกลับ กับสร้างปัญหาให้ประเทศนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ยิ่งเงินไม่ได้เข้าไปในรูป เอาขึ้นเฮลิคอปเตอร์เอาเงินโปรยจากบนท้องฟ้า แต่เข้าไปในรูปของการให้กู้ ให้ยืม เพื่อให้ผู้กู้นำเงินไปลงทุนต่อ ไปซื้ออสังหาริมทรัพย์
ในช่วงที่โลกแข่งกันทำให้ดอกเบี้ยถูก ต้นทุนดอกเบี้ยราคาถูกเลยมีส่วนช่วยผลักดัน ให้ถูกเอาไปใช้ ดีกว่าฝากแบงก์ที่ได้ผลประโยชน์ไม่กี่เศษสตางค์
เงินเลยถูกเอาไปลงทุนขยายกิจการจนอาจเกิด Over Supply
ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน +ให้เช่าต่อ จนเลยไปถึงเก็งกำไรให้ราคาที่ดินสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ คู่ขนานไปกับตลาดหุ้น
ซึ่งถ้ามองด้วยตาไม่กล่าวร้ายว่าเป็นความผิดของใคร มองด้วยสายตาด้วยความเข้าใจธรรมชาติที่เกิดขึ้น ของประเทศที่กำลังพัฒนา+เพิ่งเปิดประเทศรับกระแสทุนนิยม เป็นธรรมชาติที่จะเกิดปรากฎการณ์แบบนี้ขึ้น (ก็เหมือน ๆ ก่อนปี 40 นั่นแหละ)
สิ่งสำคัญอยู่ที่การปรับตัวแล้วเรียนรู้ต่อจากนี้
แต่ถ้ามองในแง่ดี สิ่งที่มาควบคู่กันคือรายได้ของประชากรกับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไปพร้อมกัน พร้อม ๆ กับที่ประเทศถูกปิดมานาน รายได้ในมือจึงเอื้อให้คนกระหายต่อการเดินทางแสวงหาประสบการณ์รูปแบบใหม่นอกประเทศ
ว่ากันว่าประชากร 1,300 ล้านกว่าคนของจีน ถ้าเพียงแค่ห้าเปอร์เซ็นต์ของประชากรจีน ภายในหนึ่งปีพร้อมใจกันเขยื้อนตัวสู่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ประเทศนั้นก็รับความมั่งคั่งอย่างมาก
ในความหมายของเครื่องบินจึงไม่ใช่แค่ยานพาหนะขน ‘คน’ เท่านั้น แต่มันหมายถึงการขนความ ‘มั่งคั่ง’ จากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง
สินค้าขายของฝากอย่างโตเกียวบานานาจึงขายดี ราวกับแจกฟรี หลังญี่ปุ่นยกเลิกวีซ่าคนไทย ทำให้คนไทยไปเยือนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา และซื้อเป็นของฝากกลับมา
เช่นกันกับเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2558) เมื่อชาวจีนมาเที่ยวที่ไทยสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้รายได้ท่าอากาศยานรวมถึงราคาหุ้นสูงขึ้นตามไปด้วย แถมอุตสาหกรรมพวกเครื่องสำอางที่ชาวจีนซื้อเพื่อติดตัวกลับไปเป็นของฝาก บริษัทเครื่องสำอางบางแห่งจึงทำกำไรสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์พร้อม ๆ กับราคาหุ้น
ชายตากลับไปมองยังดินแดนยุโรปภาพอดีตที่เคยเห็นชาวญี่ปุ่น (ในช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นรุ่งเรือง) เข้าคิวต่อแถวเพื่อซื้อสินค้าแบรนด์เนมถูกแทนที่โดยชาวจีนในปัจจุบัน
ทัวร์จีนจึงเป็นความหวังของเศรษฐกิจไม่ใช่แค่ของประเทศไทยด้วยเท่านั้น แต่อาจเป็นความหวังของดินแดนยุโรปในหลายประเทศ ในวันที่เศรษฐกิจในยุโรปเองก็เหมือนจะดับทุกเครื่องเหมือนกัน
ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจที่คนพาเรียกกันว่า ‘ดอกเบี้ยติดลบ’ ซึ่งถ้าเปิดตำราเศรษฐศาสตร์ของ จอห์น เมนาร์ด เคนส์ ดี ๆ คือการใช้นโยบายการเงิน เพื่อหวังกระตุ้นการลงทุน และกระตุ้นการบริโภค โดยการเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ เพื่อทำให้ดอกเบี้ยมีอัตราต่ำลง อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น กลับไม่เป็นผลนัก
เคนส์ ให้คำนิยามภาวะแบบนี้ว่า ‘กับดักสภาพคล่อง’ เพราะดูเหมือนจะพยายามทำอย่างไร ค่าเงินก็ไม่ได้อ่อนลง
ทั้งที่จริง ๆ ก็ไม่ได้แปลกอะไร เพราะถ้าเปรียบเทียบประเทศแต่ละประเทศเป็นร้านขายของ ดูเหมือนทุกร้านพยายามจะลดราคาขายของร้านตัวเองออกมาพร้อม ๆ กัน ขณะที่ Demand ของผู้ต้องการสินค้าไม่ได้เกิดขึ้นตาม คนจะซื้อสินค้าเลยไม่ได้เห็นความแตกต่างของราคาสินค้ามากนัก เพราะเห็นราคาถูกเหมือนกัน แต่เงินในกระเป๋าต่างหากที่เป็นปัจจัยให้ไม่ตัดสินใจซื้อ
เราจึงเห็นศัพท์ว่า ‘การเงินโลกวิปริต’ ขึ้นมา ทั้งที่แค่อาการ ‘ดื้อยา’
ซึ่งจากตอนแรกแค่ติดกับดักสภาพคล่อง แต่นับวันใช้บ่อยขึ้นก็จะกลายเป็น “เสพติด”
แต่เศรษฐกิจยุโรปก็เหมือนกับรถเก่าที่ตัวรถคงความคลาสสิค ที่ใคร ๆ หลายคนยังถวิลหา เหมือนบรรดาสินค้าแบรนด์เนมที่เปรียบเหมือนป้ายอันศักดิ์สิทธิ์ (โดยเฉพาะกับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘ผู้หญิง’) แต่กับเครื่องยนต์ผ่านการใช้งานมายาวนาน ถ้าไม่ยกเครื่อง ก็ต้องซ่อมกันไปเรื่อย ๆ (มีข่าวร้ายออกมาเรื่อย ๆ )
เราจึงจะได้เห็นข่าวร้ายทางเศรษฐกิจจากฝั่งยุโรปเรื่องนู้นเรื่องนี้ไปอีกยาว แต่ไม่ถึงกับทำให้วิกฤตถล่มโลก เพราะถ้าเปรียบเศรษฐกิจของยุโรปเองเมื่อเทียบกับจีน คงเปรียบได้กับกระแสน้ำในคลื่นมหาสมุทรที่นับวันจะแห้งเหือดลง ทำให้ชาวประมงออกหาปลายากขึ้นทุกที
ผิดกันกับจีนที่ดูเหมือนถูกคลื่นน้ำดันตัวเรือให้สูงขึ้นไป และต้องลุ้นต่อว่าเรือที่ชื่อ ‘จีน’ จะรับแรงกระแทกได้แค่ไหน เมื่อต้องตกลงสู่ผิวน้ำอีกครั้ง
เพราะธรรมชาติของ ‘น้ำ’ ก็เป็นแบบนี้
ทำให้เรือ ‘ลอย ’ แต่ก็ทำให้เรือ ‘จม’
***หมายเหตุ เขียนบทความนี้ครั้งแรก วันที่ 2 เมษายน 2559