ค่าเงิน คลื่นลมแห่งความปรวนแปร
ไม่ใช่เสียงเตือนของจอร์จ โซรอส เรื่องจีนหรอกที่เป็นเหมือนเสียงระฆังยกแรก หรือเสียงไซเรนที่เตือนให้ชาวประมงควรระมัดระวังการออกจากฝั่ง
แต่ทันทีที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเมื่อปลายปีที่แล้ว(ค.ศ. 2015) มันเหมือนสัญญาณบอกว่าเศรษฐกิจอเมริกาฟื้นแล้ว
และในฐานะเรือลำใหญ่ที่สุด (ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่งของโลก) พร้อมที่จะหันหัวเรือออกจากฝั่งเพื่อกลับไปไล่ล่าปลาในท้องสมุทรอีกครั้ง หลังจากที่สหรัฐใช้เวลาเกินกว่าครึ่งทศวรรษ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศตัวเอง
อีกฝั่งหนึ่งของมหาสมุทร คลื่นลมแห่งทุนนิยมและ Globalization ซัดเข้าประเทศจีนไม่หยุด หลังจากที่จีนตัดสินใจเปิดประเทศ ตามมาด้วยเปิดเสรีทางการเงิน ทำให้เงินไหลเข้าถาโถมเข้าประเทศอย่างไม่หยุด
สร้างเศรษฐีหน้าใหม่ให้เกิดขึ้นราวดอกเห็ด แถมยังสร้างตำนานครูสอนภาษาจากหางโจว ที่มากับตำราบริหารฉบับใหม่ ผู้สร้างตำนานอาลีบาบาเขย่าโลก
ยิ่งประเทศใหญ่ ๆ ทั่วโลกตัดสินใจทำ QE หรือที่เข้าใจง่าย ๆ ว่า พิมพ์แบงก์ออกมาโดยไม่อิงกับอะไรเลย (พิมพ์กระดาษออกมาดื้อ ๆ นั่นแหละ) ทำให้ปริมาณเงินล้นโลก
แต่เงินพวกนี้มันเหมือนกับคู่รักที่ไม่ซื่อสัตย์เท่าไร คือมันพร้อมที่จะวิ่งไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่า
เมื่อสมมติฐานขณะนั้นของโลกเชื่อว่า จีน ยังมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและยังเติบโตไม่หยุด (ทั้งที่ตอนนั้นจริง ๆ GDP ก็ลดลงมาเหลือเฉลี่ยปีละ 7 ต่อปีแล้ว) แบงก์กระดาษที่ชื่อว่า QE เลยวิ่งเข้าจีนไม่หยุด ทำให้ตลาดหุ้นจีนขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ทั้งที่ดูจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนจริง ๆ ชะลอตัวมานานแล้ว แต่ตลาดหุ้นกับราคาอสังหาริมทรัพย์กลับวิ่งสวนทางขึ้น
แต่ค่าเงินก็เหมือนกระแสคลื่นลมบนท้องทะเลนั่นแหละ ยากที่หาความซื่อสัตย์ได้
ถามกองทัพเรือของโจโฉที่ศึกผาแดงน่าจะรู้ดีสุด สมมติฐานเดิมของทัพโจโฉคือตั้งอยู่เหนือลม ข้าศึกจะไม่ใช้ไฟเผา เพราะจะทำให้ลมพัดไฟเข้ากองทัพข้าศึกเองได้ ด้วยสมมติฐานนี้ทำให้โจโฉตายใจ ไม่คิดว่าลมจะเปลี่ยนทิศ แต่ทันทีลมบูรพาพัดมาอย่างกะทันหัน กองทัพเรือที่ยิ่งใหญ่ของโจโฉถึงกับพังพินาศยับเยิน
เช่นกัน เมื่ออเมริกาตัดสินใจรอบที่ผ่านมาขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด สมมติฐานที่เมื่อไม่นานมานี้ ที่บอกเหมือนว่า ดอลล่าร์จะอ่อนไปเหมือนไม่สิ้นสุด ถูกกลับมาตั้งคำถามใหม่ (ดอลล่าร์แข็งขึ้นมารอก่อนขึ้นดอกเบี้ย)
จีนที่ถูกบอกว่าเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในโลกและยากจะถูกทำลายก็ถูกตั้งคำถามขึ้นด้วย เริ่มจากการขายหุ้นออกมาถล่มถลายในปีล่าสุด (พ.ศ.2558 ต่อถึงต้นปี 2559)
จริง ๆ แล้ว จีนก็เหมือนเด็กคนหนึ่ง เป็นไปไม่ได้ที่จะโตเร็วไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด วันหนึ่งเมื่อเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเขาก็ต้องเติบโตในอัตราที่ช้าลง
การขึ้นดอกเบี้ยรอบใหม่ของประเทศผู้นำโลกเสรี จึงเป็นเหมือนสมมติฐานใหม่หรือสัญญาณระฆังยกแรกที่เพิ่งจะเริ่ม
พร้อมกับบรรดานักเก็งค่าเงิน ที่กำลังเขม็งเกลียวรอทุบค่าเงินจีน พร้อมกับการปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปของมะกันในปีนี้ (พ.ศ.2559)
ซึ่งจีนรู้ดีว่าเป็นการชกแบบนวดไปเรื่อย ๆ เพื่อรอจังหวะ Knock out ในวันที่จีนพลาด
ผมเองก็ยังไม่รู้ จีนจะม้วนตัวออกจากสถานการณ์นี้อย่างไร
จีนจะหามาตรการอะไรทยอยออกมาเพื่อป้องกันคลื่นลมแห่งเงินตรา
ในวันที่ลมมันเริ่มพัดแรงขึ้นเรื่อย ๆ จากทางทิศตะวันออก เพื่อกลับไปทิศตะวันตกอีกครั้ง
***หมายเหตุ บทความนี้ผมเขียนครั้งแรกวัน 14 มกราคม 2559