ปัจจุบันการเริ่มต้นทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยาก และบางธุรกิจเพียงสั่งซื้อสินค้าเข้ามาแล้วขายออกไปก็สามารถสร้างผลกำไรให้ผู้ประกอบการได้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะกิจการเจ้าของคนเดียวอย่างเช่น ธุรกิจออนไลน์
ที่มีนักธุรกิจมากมายประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ด้วยขั้นตอนง่าย ๆ คือ สั่งซื้อสินค้าที่น่าสนใจเข้ามาขายและสามารถทำกำไรได้ทันที
นอกจากไม่ต้องใช้ทรัพยากรบุคคล และลดขั้นตอนการผลิต ยังมีแหล่งค้าส่งสินค้ามากมายให้เลือกลงทุน รวมถึงตลาดค้าส่งสินค้าออนไลน์ที่มีทั้งสินค้าภายในประเทศและสินค้านำเข้าซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการเริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
แต่ถึงแม้จะเป็นการทำธุรกิจด้วยวิธีง่ายๆใช้เงินลงทุนไม่มากและยังมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ก็ใช่ว่านักธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่เลือกรูปแบบการลงทุนด้วยวิธีนี้ จะสามารถประสบความสำเร็จได้เหมือน ๆ กัน
เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นๆเป็นองค์ประกอบสำคัญโดยเฉพาะ
“การจัดทำบัญชี และ การคำนวณต้นทุนสินค้า”
เพื่อกำหนดราคาขายให้ได้ผลตอบแทนคุ้มค่าหรือได้กำไรตามเป้าหมายที่นักลงทุนต้องการ
โดยทั่วไปการเลือกลงทุนและวิธีกำหนดราคาขายสินค้าของกิจการเจ้าของคนเดียว ที่นิยมปฏิบัติก็คือเลือกสินค้าคุณภาพที่ราคาไม่สูงมากเมื่อนำมาบวกกำไรก็ยังทำให้สินค้าตัวนั้นราคาไม่สูงมากนัก ทำให้ขายดีขายได้
หรือในอีกมุมหนึ่งอาจมีแนวคิดว่าการเลือกสินค้าคุณภาพราคาถูกจากตลาดค้าส่งที่เป็นสินค้านำเข้าทำให้กำหนดราคาขายสูง ๆ เพื่อให้มีผลกำไรมากขึ้น
ตามหลักบัญชีการซื้อถูกขายแพงไม่ใช่แนวทางหรือเป็นวิธีปฏิบัติที่ช่วยให้ธุรกิจมีผลกำไรเสมอไป เพราะอาจมีตัวแปรอื่น ๆ ที่เข้ามาทำให้สินค้าราคาถูกมีต้นทุนที่สูงขึ้นได้ การคำนวณต้นทุนสินค้าจึงเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนตัดสินใจลงทุนในสินค้าประเภทนั้น ๆ
การคำนวณต้นทุนสินค้า หมายถึงอะไร
คำว่า ต้นทุนสินค้า หมายถึง จำนวนทรัพยากรหรือค่าใช้จ่ายที่เสียไปโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้สิ่งหนึ่งสิ่งใดมา ซึ่งส่วนใหญ่ต้นทุนจะแสดงอยู่ในรูปของตัวเงิน หรือสรุปให้เห็นภาพง่าย ๆ ต้นทุนสินค้าก็คือมูลค่าของทรัพยากรที่สูญเสียไปเพื่อให้ได้สินค้าหรือบริการมาจำหน่าย
เมื่อทราบความหมายของคำว่า “ต้นทุนสินค้า” ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถมองภาพต้นทุนของสินค้าหรือบริการได้อย่างถูกต้องและชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะคำว่าต้นทุนไม่ใช่ตัวเงินที่จ่ายเฉพาะค่าสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำให้ได้มาซึ่งสินค้าเหล่านั้นด้วย
ระวัง! ….กำไรสูญหายเพราะค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
ความสำคัญของการคำนวณต้นทุนสินค้าก่อนกำหนดราคาขาย ไม่เพียงทำให้ผู้ประกอบการสามารถกำหนดรายได้หรือมีผลกำไรจากการจำหน่ายสินค้าเท่านั้น แต่การคำนวณต้นทุนสินค้ายังช่วยให้ผู้ประกอบการวางแผนทำให้สินค้าหรือบริการนั้นมีต้นทุนที่ต่ำลงได้ด้วย
การมีต้นทุนที่ต่ำลงยังเป็นกลยุทธ์ด้านการตลาดทำให้มีโอกาสสู้กับคู่แข่งที่จำหน่ายสินค้าประเภทเดียวกันได้หลายช่องทาง เช่น จัดกิจกรรมด้านการตลาดด้วยการลดแลก แจก แถม หรือจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ เพื่อเพิ่มยอดขาย
สิ่งที่ผู้ประกอบการควรระวัง และให้ความสำคัญกับการคำนวณต้นทุนสินค้า ได้แก่ปัจจัยที่เป็นตัวแปรทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดยที่ผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจใหม่ ๆ อาจมองข้ามหรือคาดไม่ถึง
ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการเลือกสั่งซื้อสินค้านำเข้าจาก alibaba.com หรือ taobao.com ซึ่งแน่นอนว่าสินค้ามีราคาถูก แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการอาจพลาดหรือคาดไม่ถึงก็คือเรื่องของค่าขนส่งหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เมื่อนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นมาคำนวณหรือรวมกับราคาสินค้า อาจทำให้กำไรที่ควรจะได้รับหมดไปตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นทำธุรกิจ
วิธีคำนวณต้นทุนสินค้าอย่างง่าย ๆ
สำหรับการคำนวณต้นทุนแบบง่าย ๆ ซึ่งเหมาะกับกิจการเจ้าของคนเดียว เช่น ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง หรือร้านค้าออนไลน์ การคำนวณต้นทุนสินค้าที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ยังเหมาะสำหรับธุรกิจ SME ขนาดเล็ก ๆ ที่สามารถนำหลักการไปปรับประยุกต์ใช้ได้เช่นเดียวกัน
วิธีการคำนวณผู้เขียนขอแบ่งลักษณะต้นทุนออกเป็นประเภทๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เห็นภาพและง่ายต่อการทำความเข้าใจ ซึ่งการจำแนกต้นทุนจากการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1.ต้นทุนการผลิต (Manufacturing Costs)
สำหรับกิจการเจ้าของคนเดียวที่ไม่ได้มีการผลิตสินค้า แต่เป็นวิธีดำเนินงานโดยการซื้อมาและขายไป ต้นทุนการผลิตในส่วนนี้หมายถึงราคาต้นทุนสินค้าที่ได้มีการตกลงซื้อขาย และยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
ตัวอย่างเช่น สั่งซื้อเก้าอี้นวดไฟฟ้าเป็นสินค้านำเข้าจากจีน จำนวน 100 ตัว จำนวนเงิน 250,000 บาท ดังนั้นต้นทุนการผลิตต่อหน่วย ก็คือ 2,500 บาท
2.ต้นทุนเกี่ยวกับการบริหาร (Administrative Costs)
หากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ต้นทุนส่วนนี้หมายถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินงาน เงินเดือน และค่าจ้างของพนักงาน สำหรับกิจการเจ้าของคนเดียวที่ดำเนินงานโดยการซื้อสินค้ามาและขายไป
ต้นทุนเกี่ยวกับการบริหารหมายถึง ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเพื่อให้ได้มาของสินค้า เช่น ค่าขนส่งเฉลี่ย กก.ละ 60 บาท เก้าอี้หนัก 20 กก.
ตัวอย่างเช่น สั่งซื้อเก้าอี้นวดไฟฟ้าเป็นสินค้านำเข้าจากจีน จำนวน 100 ตัว มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งขนส่งเฉลี่ย กก.ละ 60 บาท เก้าอี้หนัก 20 กก. ดังนั้นต้นทุนการเกี่ยวกับการบริหารต่อหน่วย เท่ากับ 1,200 บาท
3.ต้นทุนที่เกี่ยวกับการตลาด (Marketing Costs)
ต้นทุนสินค้าในส่วนนี้หมายถึง ต้นทุนต่าง ๆ ที่ต้องการส่งเสริมการขาย เช่น ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ ค่านายหน้าตัวแทนขาย
ตัวอย่างเช่น ขายเก้าอี้นวดไฟฟ้าเป็นสินค้านำเข้าจากจีน ผ่านร้านค้าออนไลน์ตั้งงบรายจ่ายค่าโปรโมทสินค้าและค่าจัดส่งไว้ทั้งสิ้น 30,000 บาท ดังนั้นต้นทุนเกี่ยวกับการตลาดต่อหน่วยเท่ากับ 300 บาท
4.ต้นทุนทางการเงิน (Financial Costs)
หมายถึง ต้นทุนที่เกิดจากการหาเงินทุนหรือการบริหารเงินทุนของกิจการ เช่น ค่าดอกเบี้ย (กรณีกู้ยืมจากแหล่งเงินทุน) หรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ
ขั้นตอนการคำนวณต้นทุนแบบง่าย ๆ (หากไม่มีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต้นทุนการเงินในข้อนี้ไม่มี)
ตัวอย่าง: สั่งซื้อเก้าอี้นวดไฟฟ้าเป็นสินค้านำเข้าจากจีนด้วยเงินทุนของตนเอง ดังนั้นจึงไม่มีต้นทุน ทางการเงิน
วิธีคำนวณต้นทุนเก้าอี้นวดไฟฟ้าสินค้านำเข้าจากจีน
1.ราคาต้นทุนผลิต(ซื้อสินค้า) ราคาต่อหน่วย 2,500.- บาท
2.ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ราคาต่อหน่วย 1,200.- บาท
3.ค่าโปรโมทสินค้าและค่าจัดส่ง ราคาต่อหน่วย 300.- บาท
ดังนั้น ต้นทุนเก้าอี้นวดไฟฟ้านำเข้าจากจีน ราคาต่อหน่วย 4,000.- บาท
บทสรุป
วิธีคำนวณต้นทุนสินค้าเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการทราบต้นทุนสินค้าที่แท้จริง และยังเป็นกลยุทธ์สำคัญในการบริหารจัดการเพื่อให้สินค้ามีต้นทุนและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ลดลง
จากตัวอย่างการคำนวณราคาต้นทุนสินค้า จะเห็นสินค้าบางประเภทมีราคาซื้อขายไม่แพงแต่เมื่อนำมาบวกค่าขนส่งหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทำให้สินค้านั้นมีต้นทุนที่สูงมากขึ้น
หากไม่มีการคำนวณราคาต้นทุนอย่างละเอียดผลกำไรที่ควรจะได้รับอาจหายไปกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการสั่งซื้อ ดังนั้นการทำความเข้าใจกับวิธีการคำนวณต้นทุนสินค้าและการจัดทำบัญชีเบื้องต้น จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการลงทุนในธุรกิจทุกประเภท